แนวคิดซาโตชิ นากาโมโต VS คาร์ล มารกซ์

นักวิเคราะห์ตลาดซื้อขาย cryptocurrency บางท่านได้เปรียบเทียบแนวคิดของซาโตชิ นากาโมโต ผู้คิดค้นและสร้างระบบบิทคอยน์ กับแนวคิดสังคมนิยมของคาร์ล มารกซ์ไว้อย่างน่าสนใจ แม้บิทคอยน์และระบบสังคมนิยมจะไม่ได้มีความคล้ายกันแต่สิ่งที่เหมือนกันคือความคิดที่จะแหกออกจากระบบทุนนิยมแบบเดิม ที่คนที่อยู่ระดับยอดบนสุดของเศรษฐกิจเป็นผู้กินรวบและกำหนดกติการของระบบ

 คาร์ล มารกซ์

คาร์ล มารกซ์เกิดและมีชีวิตอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการปฎิวัติอุตสาหกรรม เขาได้เห็นความไม่เป็นธรรมในระบบที่นายทุนกอบโกยความมั่งคั่งร่ำรวยอยู่บนแรงงานของคนชั้นกลางและคนยากจนในเมือง รูปแบบการใช้ชีวิตของคนร่ำรวยเป็นต้นแบบชีวิตในฝันที่ทุกคนต้องการ นำไปสู่การทำทุกวิถีทางเพื่อแสวงหาประโยชน์ต่อตนเอง มารกซ์เห็นว่าระบบเศรษฐกิจแบบนี้จะนำพาปัญหาอีกมากมายมาสู่สังคม เช่น การกดขี่แรงงาน ปัญหาชุมชนแออัดในเมือง ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาอาชญากรรม

แนวคิดสังคมนิยมของมารกซ์จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อนที่ต้องใช้คำศัพท์พิเศษหรือต้องตีความเจ็ดชั้นแต่อย่างใด ระบบสังคมนิยมของมาร์กก็คือความเกื้อกูลกันในสังคม เป็นสังคมที่ผู้แข็งแรงไม่เอาเปรียบคนอ่อนแอ ทรัพยากรที่มีก็เอามาแบ่งปันกัน ไม่มีคนต้องอดอยาก ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คนแข็งแรงที่เผื่อแผ่ก็ได้ความเคารพศรัทธาจากชุมชน

ยกตัวอย่างในเกาะเล็กๆ กลางมหาสมุทร มีทั้งเด็ก หนุ่มสาว คนแก่ คนพิการ คนท้อง ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถออกเรือไปหาปลาได้ทุกคน หากเป็นสังคนที่แต่ละคนเห็นแต่ตัวเอง คนที่แข็งแรงที่สุดก็อาจเป็นคนที่ได้ปลามากที่สุดและเรียกร้องประโยชน์จากคนที่ไม่สามารถหาปลาได้ คนที่อ่อนแอในสังคมแม้จะทำงานเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่ตัวเองสามารถทำได้ก็อาจไม่พอแลกปลาเพื่อให้พอแก่การมีชีวิตรอด แต่ลักษณะสังคมนิยมนั้นที่ค่อนข้างอุดมคติ ทุกคนที่ยังออกหาปลาได้ก็จะช่วยกันจับปลา เมื่อได้มาก็แบ่งปันไปถึงคนที่หาปลาไม่ได้ คนที่หาปลาไม่ได้ก็ช่วยเหลืออะไรในชุมชนเท่าที่ทำได้

แนวคิดของมารกซ์สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้แม้ในสังคมแบบทุนนิยม แต่ช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ของโลกได้มีการเอาแนวคิดของมารกซ์ไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อล้มล้างระบบอบเดิม แน่นอนว่าความเคืองแค้นของคนยากจนในระบบทุนนิยมเป็นพลังหนุนให้การล้มล้างระบบเดิมง่ายดายขึ้น แต่การริบทรัพยากรทุกอย่างมาเป็นของกลางแล้วให้ทุกคนทำงานและแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรมเป็นสิ่งที่ยาก ความเหลื่อมล้ำยังคงมีอยู่ และประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลงเพราะขาดแรงจูงใจ ทำมากแค่ไหนก็ได้เท่าเดิม ประเทศที่ใช้ระบอบสังคมนิยมจึงหันกลับมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมกันเกือบหมด

เมื่อระบบทุนนิยมมีจุดอ่อน รัฐบาลจึงมักลดปัญหาช่องว่างความเหลี่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนด้วยการมีสวัสดิการของรัฐ แต่ภาระการช่วยเหลือคนที่อยู่ข้างหลังสุดมักจะตกอยู่ในมือคนชั้นกลางเพราะเป็นกลุ่มคนที่หลบเลี่ยงภาษีได้ยากที่สุด

ซาโตชิ นากาโมโต

บิทคอยน์ออกสู่สาธารณชนหลังวิกฤติซัพไพร์ม อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญหรือเป็นความจงใจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นคือความได้เปรียบของธุรกิจการเงินขนาดใหญ่ที่ผูกขาดธุรกรรมการเงินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกู้เงิน โอนเงิน การทำประกัน การแปลงสินทรัพย์เพื่อเก็บรักษาความมั่งคั่ง ทุกอย่างต้องผ่านเครือข่ายของธุรกิจธนาคาร เหล่าธนาคารก็ได้ค่าธรรมเนียมธุรกรรมที่คิดมาจากต้นทุนบวกกับกำไร

ซาโตชิได้คิดระบบที่จะทำให้หลุดพ้นจากการเอาเปรียบของระบบธนาคาร ตัดการจัดการแบบรวมศูนย์ของธนาคารออกไป แล้วเปลี่ยนการจ่ายหรือโอนผ่านระบบดิจิทัลที่ใช้การกระจายศูนย์ ไม่ต้องมีคนกลาง ต้นทุนของระบบถูกลง

ใครที่มีภาระในการโอนหรือจ่ายเงินข้ามประเทศบ่อยๆ จะรู้ดีว่าค่าธรรมเนียมในการจ่ายโอนเงินจำนวนมากๆ ถ้าเอามาคิดก็ไม่ใช่เงินจำนวนที่น้อยเลย จากระบบการโอนเงินผ่านธนาคารและตัวกลางอย่าง Western Union ต่อมาก็มีระบบตัวกลางที่ทำธุรกรรมแบบออนไลน์อย่าง Paypal ที่ค่าธรรมเนียมก็อาจะถูกลงบ้าง แต่เมื่อเทียบกับการโอนเงินผ่านบิทคอยน์ก็จะเห็นได้ว่าค่าธรรมเนียมถูกกว่าและใช้เวลาในการโอนเงินที่เร็วกว่าระบบเดิม

ถ้าโลกมีแต่สีขาว ประโยชน์จากระบบโอนจ่ายเงินบิทคอยน์คงจะได้รับประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย ใครที่จะโอนเงินก็แค่ไปแลกเหรียญบิทคอยน์จาก Exchange ที่มีดาษดื่นแล้วก็กดโอนบิทคอยน์ไป คนที่ได้รับก็เอาไปแลกคืนจาก Exchange ได้เป็นเงินท้องถิ่นไป คิดค่าธุกรรมกรวมก็อาจจะต่ำกว่าการจ่ายโอนผ่านธนาคาร

แต่บิทคอยน์ในทุกวันนี้ถูกใช้ไปในการเก็งกำไรอย่างหนัก จนไม่อาจจะแน่ใจว่าประโยชน์ที่ได้จาก % ค่าธุรกรรมการโอนที่ต่ำลงจะชดเชยกับราคาบิทคอยน์ที่ผันผวนได้ไหม เช่นในขณะโอนบิทคอยน์ไปจากเมืองไทยไปถึงผู้รับที่อังกฤษ หากธุรกรรมนั้นเกิดใช้เวลาตรวจสอบเป็นเวลานานกว่าปกติ แล้วราคาบิทคอยน์เกิดร่วงลงหนักในระหว่างนั้น กว่าผู้รับจะได้บืทคอยน์แล้วนำไปแลกเป็นเงินท้องถิ่นคืนอาจจะขาดทุนหนักจากราคาที่ร่วงลงของบิทคอยน์

ผมไม่แน่ใจว่าการที่บิทคอยน์เป็นที่คลั่งไคล้ในหมู่นักเก็งกำไรนั้นเป็นหนึ่งในภาพที่ซาโตชิอยากเห็นหรือไม่ ไม่ต่างจากการที่ประเทศสังคมนิยมในอดีตเอาแนวคิดแบบมารกซ์ไปใช้ในการหาประโยชน์เฉพาะคนในกลุ่ม โดยผมเขื่อว่า คาร์ล มารกซ์ ก็คงไม่ต้องการเช่นนั้น ดังนั้นอาจต้องใช้เวลาอีกนานในการพิสูจน์ประโยชน์จากบิทคอยน์ จนกว่าฝุ่นที่กำลังตลบอย่าในตลาดเก็งกำไรจะจางลง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *