Bitcoin vs ทองคำ vs สกุลเงินโลก ภาคจบ

บทความนี้เป็นภาคสุดท้ายของเรื่อง Bitcoin ทองคำและสกุลเงินโลก เป็นเรื่องการเจาะลึกประวัติศาสตร์การเงินโลกเพื่อไขรหัสที่จะนำไปสู่การตีมูลค่าของบิทคอยน์ ซื่งกำลังตกเป็นเป้าความสนใจของคนในยุคนี้

 

ในภาคที่ 2 จบลงตรงที่เราเข้าใจตรงกันแล้วว่าเงินดอลล่าร์สหรัฐในยุคนี้ไม่มีการผูกติดค่ากับทองคำ หรือพูดอีกแบบก็คือสหรัฐสามารถพิมพ์ธนบัตรออกมาโดยไม่ต้องมีทองคำหนุนหลัง เป็นเงินที่เรียกกันว่า Fiat currency แต่ประเทศต่างๆ ในโลกยังมีความจำเป็นต้องถือเงินดอลล่าร์เพื่อใช้ซื้อน้ำมันจากโอเปก เพราะโอเปคตั้งราคาขายน้ำมันเป็นเงินดอลล่าร์ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะสหรัฐยื่นข้อเสนอในการสนับสนุนอาวุธและการป้องกันภัยให้แก่ซาอุดิอารเบีย แลกกับการกำหนดราคาขายน้ำมันเป็นดอลล่าร์ เงินดอลล่าร์จึงกลายเป็นเงินสำรองที่ประเทศต่างๆ ต้องมีไว้ เงินสำรองดังกล่าวอยู่ในรูปพันธบัตรสหรัฐเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเท่ากับว่าเงินสกุลของประเทศต่างๆ มีวิญญาณของเงินดอลล่าร์สิงอยู่เกือบจะเต็มมูลค่า มีส่วนน้อยมากที่หนุนหลังด้วยทองคำที่ประเทศนั้นถืออยู่ ก็แปลว่าทุกสกุลเงินในโลกขณะนี้ล้วนเป็น Fiat currency เหมือนกัน ในบทนี้จะมาเล่าต่อว่าการเงินโลกเป็นอย่างใด

 

สหรัฐคืนชีพด้วย Petrodollar

หลังจากที่โอเปกตกลงที่จะขายน้ำมันโดยกำหนดราคาเป็นดอลล่าร์ตามข้อเสนอของสหรัฐหรือที่เรียกว่า Petrodollar แล้ว ประเทศต่างๆ จึงจำเป็นต้องหาเงินดอลล่าร์มาเพื่อซื้อน้ำมันจากโอเปก ความต้องการดอลล่าร์จึงทำให้สหรัฐฟื้นตัวอีกครั้ง แต่สถานะของสหรัฐยังเป็นประเทศผู้ซื้อมากกว่าผู้ขาย การขาดดุลจึงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หนี้ของประเทศก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

แล้วหนี้ของสหรัฐนี้ใครเป็นเจ้าหนี้ เจ้าหนี้ของสหรัฐก็คือประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั่นเอง กลไกการก่อหนี้ก็คือเมื่อเงินในคลังของสหรัฐไม่พอใช้ คลังก็จะเสนอให้รัฐบาลไปขอให้สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศให้การอนุมัติก่อหนี้เพิ่ม เมื่อสภาอนุมัติแล้วกระทรวงการคลังก็จะมีสิทธิ์ออกพันธบัตร (Treasury bonds) เพื่อขายให้แก่นักลงทุน คนที่มาซื้อพันธบัตรก็มีทั้งสถาบันการเงินใหญ่ๆ ระดับโลก รวมถึงธนาคารกลางประเทศต่างๆ ที่ได้รับเงินดอลล่าร์ที่รับฝากต่อมาจากธนาคารพาณิชย์ ที่ลูกค้านักธุรกิจที่เป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ไปทำมาค้าขายได้ดอลล่าร์มา การซื้อขายก็ทำผ่านตลาดพันธบัตรของสหรัฐซื่งเป็นตลาดพันธบัตรที่มีธุรกรรมสูงที่สุดในโลก

 

ปกติเวลาเราจะให้ใครยืมเงินหรือยอมเป็นเจ้าหนี้ใคร สิ่งที่ต้องดูอย่างแรกคือเครดิตของคนมายืมเงิน ถ้าเป็นคนขยันขันแข็งมีเรี่ยวแรงทำงาน มีรายได้แน่นอนและมีหลักประกัน เราก็สบายใจที่จะให้ยืมเงิน แต่ถ้าเป็นคนที่สำมะเลเทเมา งานการไม่ทำหรือมีฐานะง่อนแง่น หรือมีหนี้สินรุงรัง เราก็คงจะไม่อยากเสี่ยงให้ยืมเงินเพราะอาจจะสูญหรือถูกชักดาบ แต่สำหรับกรณีสหรัฐอเมริกาไม่ใช่แบบนั้น ธนาคารกลางประเทศต่างๆ จำเป็นต้องซื้อพันธบัตรไปเก็บไว้แทนเงินสดที่เป็นดอลล่าร์ เพราะไหนๆ ก็ต้องมีสำรองเงินดอลล่าร์อยู่แล้ว เก็บเงินสดก็ไม่มีผลตอบแทน ซื้อเป็นพันธบัตรยังพอจะได้ดอกเบี้ยนิดหน่อย สภาพคล่องก็ดีอยากขายก็ทำได้ทันทีในตลาดพันธบัตร ไม่ว่าหนี้ของสหรัฐจะบานขนาดไหน สถาบันจัดอันดับก็ให้เรตติ้ง AAA ตลอด ถือเป็นพันธบัตรที่มีความน่าเชื่อถือสูงสุดในโลก

 

ถ้าบ้านลูกหนี้ของเราขยันทำมาหากินรู้จักเก็บออม เจ้าหนี้อย่างเราก็อุ่นใจ แต่กรณีของสหรัฐต้องขอเล่าให้ทราบเลยว่าวินัยทางการเงินน่าหวั่นใจ ดูจากกราฟข้างล่างจะเห็นว่าในช่วงก่อน Bretton Wood Conference สถานะการเงินดีมาก ยิ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 การเกิดดุลการค้าของประเทศเป็นไปอย่างมหัศจรรย์ นั่นก็เพราะสหรัฐเป็นฐานการผลิตสินค้าสำคัญมีเงินทองจากการค้าขายเข้าประเทศมาก แต่สหรัฐเริ่มได้ดุลการค้าน้อยลงเรื่อยๆ จนถึงช่วงปี 1965 – 1970 ซึ่งเป็นช่วงสงครามเวียดนาม สถานะการคลังของสหรัฐแย่ลง ทองคำสำรองก็ลดลงจนไม่พอจะหนุนหลังเงินดอลล่าร์ทั้งหมดที่หมุนเวียนในโลก จนสหรัฐต้องยกเลิกการผูกค่ากับมาตรฐานทองคำ และสหรัฐเริ่มขาดดุลอย่างต่อเนื่องและหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ แม้ระบบ Petrodollar จะเริ่มใช้แล้วการขาดดุลก็ไม่ได้ลดลง รายจ่ายยังมากกว่ารายรับ

เปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือบ้านลูกหนี้เราหนี้บานขึ้นเรื่อยๆ พอหนี้มากขึ้นก็ไปเปิดหนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่า คล้ายๆ เปิดบัตรเครดิตใบใหม่มาจ่ายหนี้บัตรเครดิตใบเก่า ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่เห็นคือรัฐบาลสหรัฐขออนุมัติต่อสภาฯ เพื่อขอเพิ่มเพดานหนี้อยู่อย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และก็จะขอเพิ่มเพดานหนี้เช่นนี้เรื่อยไปตามที่ปรากฎเป็นข่าวมาโดยตลอดเป็นระยะๆ

 

ความพยายามของสหรัฐในการกลับมาสร้างความเข้มแข็งให้ภาคการผลิตและการบริการ เพื่อพลิกดุลการค้าให้เป็นบวก ให้กลับมาเป็นประเทศที่มั่งคั่งอีกครั้งเป็นภารกิจหลักของประธานาธิบดีทุกยุคสมัย แต่ไม่เป็นผล การสร้างศรัทธาทางการเงินของประเทศอาจจะยากเกินไป แต่ถึงอย่างไรก็ต้องให้ทั้งโลกยังอยู่ภายใต้ระบบดอลล่าร์ สหรัฐจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อพยุงสภาพนี้ต่อไป สิ่งที่สหรัฐได้ทำไปในอดีตที่บ่งบอกได้ถึงความพยายามนี้ ได้แก่

  1. การกดดันให้ประเทศคู่ค้าเลิกใช้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินที่ทำให้สหรัฐเสียเปรียบ
  2. การรักษาความเข้มงวดของระบบ Petrodollar
  3. การบิดเบือนราคาทองคำผ่านตลาดซื้อขายล่วงหน้าไม่ให้ทองคำสะท้อนค่าของดอลล่าร์ที่แท้จริง
การกดดันให้ประเทศคู่ค้าเลิกใช้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินที่ทำให้สหรัฐเสียเปรียบ

ความตกลง Plaza Accord ในปี 1985 เป็นตัวอย่างเหตุการณ์ที่ชัดเจนในเรื่องนี้ Plaza Accord คือความตกลงร่วมกันของ 5 ประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกคือ สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่น เห็นร่วมกันให้ปรับค่าเงินเยนและค่าเงินมาร์คเยอรมัน เนื่องจากสหรัฐขาดดุลการค้าแก่ญี่ปุ่นและเยอรมันอย่างมาก จากเหตุญี่ปุ่นและเยอรมันต่างพยายามกดค่าเงินของตนเองให้ต่ำกว่าความเป็นจริง มีผลให้สินค้าจากสหรัฐไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับสินค้าญี่ปุ่นและเยอรมันได้ แถมสินค้าจากทั้ง 2 ประเทศนี้ก็เข้าไปตีตลาดในสหรัฐ

 

ในยุคนั้นสหรัฐเป็นประเทศผู้ซื้อสำคัญ ญึ่ปุ่นและเยอรมันไม่มีทางเลือกอื่น ต้องยอมตามข้อเสนอ การกดดันประเทศคู่ค้าในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนมีให้เห็นอีกในยุคที่จีนเฟื่องฟู สหรัฐขาดดุลจีนมากเป็นอันดับหนึ่ง และจีนก็พยายามกดอัตราแลกเปลี่ยนให้ต่ำมาโดยตลอดเพื่อความได้เปรียบทางการค้า สหรัฐพยายามกดดันจีนให้ปรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะสหรัฐเป็นเพียงลูกค้ารายหนึ่งของจีนเท่านั้น ไม่พึ่งสหรัฐก็ยังพออยู่ได้ ดังนั้นพลังในการต่อรองของสหรัฐจึงไม่เพียงพอที่จะกดดันให้จีนปรับอัตราแลกเปลี่ยน

 

การรักษาความเข้มงวดของระบบ Petrodollar

เพราะว่ามีระบบ Petrodollar เงินดอลล่าร์สหรัฐจึงเป็นสกุลเงินจำเป็นของชาวโลก ดังนั้นสหรัฐจึงไม่ยอมให้ใครมาเปลี่ยนแปลงระบบนี้เด็ดขาด ในประวัติศาสตร์มีหลายความพยายามในการไม่ยอมรับระบบนี้

 

คนแรก ซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำอิรัคซึ่งเปลี่ยนไปขายน้ำมันเป็นยูโรในปี 2001 เพราะปฏิเสธจะใช้เงินดอลล่าร์ของศัตรู เป้าหมายก็เพื่อให้ดอลล่าร์อ่อนค่าลง เพราะเมื่อปริมาณดอลลาร์ที่จำเป็นสำหรับการซื้อลดลง ดอลลาร์ส่วนที่เกินก็จะไหลกลับไปที่สหรัฐ ทำให้ปริมาณเงินดอลล่าร์ในสหรัฐเพิ่มขึ้น จึงทำให้ค่าเงินสหรัฐอ่อนค่าลง งานนี้สหรัฐตอบโต้ด้วยการกล่าวหาซัดดัมว่าสะสมอาวุธร้ายแรง และเข้าโจมตีจนในที่สุดก็จับตัวซัดดัมได้และจับประหารออกทีวีให้ชาวโลกดู

 

คนที่สอง มูฮัมมาร์ กัดดาฟี แห่งลิเบีย เปลี่ยนการขายน้ำมันจากดอลล่าร์มาเป็นสกุลเงินของลิเบีย สหรัฐจัดการด้วยการถล่มด้วยระเบิดและสนับสนุนกลุ่มกบฎและสุดท้ายกัดดาฟีถูกกบฎยิงเสียชีวิต

 

กลุ่มถัดมาคือประเทศซีเรียและอิหร่าน ทั้งคู่เป็นแนวร่วมประสานมือออกจากระบบ Petrodollar โดยซีเรียเริ่มในปี 2006 อิหร่านเริ่มปี 2008 และด้วยการสนับสนุนลับๆ จากรัสเซีย ทำให้ซีเรียกลายเป็นเป้าหมายกระบอกปืนเรือรบสหรัฐ รวมถึงการอุปโหลกกลุ่มไอซิสเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในซีเรีย ส่วนอิหร่านที่เพิ่งกลับมาขายน้ำมันก็ถูกคว่ำบาตและกำลังเกิดการประท้วงในประเทศ เห็นได้ชัดว่าประเทศที่พยายามจะตีตัวออกห่างระบบ Petrodollar มักจะมีอาการเป็นไปแบบที่ราวกับถูกขีดให้ไปสู่หายนะ

 

แต่ล่าสุดสดๆ ร้อนๆ ที่เป็นปรากฏการณ์ท้าทายระบบ Petrodolla ที่เพิ่งถือกำเนิดมา นั่นคือระบบ Petro Yuan ที่จีนได้เปิดตลาดค้าซื้อขายน้ำมันโดยกำหนดราคาน้ำมันเป็นเงินหยวนซึ่งอิงกับทองคำ ระบบนี้เป็นความร่วมมือกันของ จีน รัสเซีย อิหร่าน ที่จะตกลงซื้อขายน้ำมันโดยจ่ายเป็นเงินสกุลของตัวเอง หรือเงินหยวนก็ได้ โดยมีทองคำหนุนหลังสกุลเงินหยวน ระบบนี้เพิ่งเริ่มใช้ในปี 2018 นี้เอง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีปฏิกริยาใดจากสหรัฐ

 

การบิดเบือนราคาทองคำและโลหะเงินผ่านตลาดซื้อขายล่วงหน้าเพื่อไม่ให้สะท้อนค่าของดอลล่าร์ที่แท้จริง

หลังจากที่ทองคำไม่ได้เป็นโลหะมีค่าที่ใช้หนุนหลังเงินดอลล่าร์ตามระบบ Bretton Wood แล้ว ราคาทองคำจึงแสดงค่าที่แท้จริงผ่านราคาซื้อขายทองคำ โดยในช่วงแรกที่ยกเลิกมาตรฐานทองคำ ราคาทองคำก็กระโดดขึ้นอย่างรวดเร็วในทิศทางที่สวนทางกับการอ่อนค่าของดอลล่าร์ สหรัฐสามารถพิมพ์ดอลล่าร์ออกมาได้เท่าที่ต้องการผ่านกระบวนการเพิ่มเพดานหนี้ แต่ไม่สามารถปั๊มทองคำออกได้ตามใจต้องการ การพิมพ์เงินดอลล่าร์ออกมามากย่อมทำให้ค่าเงินดอลล่าร์ลดลง โดยราคาทองคำเป็นตัวสะท้อนมูลค่าของดอลล่าร์ ดังนั้นการบิดเบือนราคาทองคำหรือกดให้ราคาทองคำต่ำ จึงเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐที่จะได้คงความมีค่าของดอลล่าร์ไว้ และไม่ใช่เพียงแต่ทองคำที่ถูกบิดเบือนราคา โลหะเงินก็อยู่ในเป้าหมายการกดราคาด้วย และต่อไปนี้เราจะมาทำความเช้าใจวิธีการกดราคาทองคำและโลหะเงิน

 

การซื้อขายทองคำหรือโลหะเงินที่จับต้องได้จริง (Physical) เป็นไปตามดีมานด์โลกซึ่งเกิดจากการซื้อเก็บสะสมแทนทรัพย์สิน หรือการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับหรืออุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์ ขนาดของตลาดจึงขึ้นอยู่กับปริมาณโลหะเงินและทองคำที่ขุดขึ้นได้ใหม่ รวมกับของเดิมที่รีไซเคิลหลอมมาขายใหม่ ใครต้องการเมื่อไหร่ก็ไปตลาดและซื้อขายกันตามราคาตลาดในเวลานั้น หากมีความต้องการมากราคาก็จะขึ้น หากความต้องการลดลงราคาก็จะตกลงตามกฏดีมานด์ซัพพลาย แต่ด้วยความผันผวนของราคาจากดีมานด์และซัพพลายที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดซึ่งจะมีผลต่อราคาที่ไม่นิ่ง โลกยุคใหม่จึงพัฒนาระบบตลาดซื้อขายล่วงหน้า (Futures) เพื่อลดความเสี่ยงของราคาที่ผันผวนของสินค้า

 

ตลาดล่วงหน้า (Futures) มีประโยชน์เพื่อปิดความเสี่ยงของธุรกิจ ยกตัวอย่างบริษัทผลิตมือถือรับออเดอร์ผลิตมือถือ 1 ล้านเครื่อง ตกลงราคาขายกันที่  5,000 ล้านบาท ส่งมอบ 3 เดือนถัดไป บริษัทคิดคำนวณกำไรจากต้นทุนในวันรับออเดอร์ สมมติจะได้กำไร 1,500 ล้าน  สมมติอีกว่าในขั้นตอนการผลิตก็จะต้องมีวัตถุดิบทองคำมาเข้าในไลน์ผลิตใน 1 เดือนถัดไป แต่ไม่มีใครรู้ว่า 1 เดือนถัดไปราคาทองจะขึ้นหรือลง ถ้าหากราคทองเกิดแพงขึ้นบริษัทก็อาจจะไม่เหลือกำไรจากการผลิตมือถือขายในครั้งนี้ เพื่อปิดความเสี่ยงที่ราคาทองคำอาจขึ้นหรือลง บริษัทจึงเปิดสัญญาซื้อทองคำล่วงหน้าเพื่อล็อกราคาทองคำไว้ที่ราคาวันนี้ ดังนั้นไม่ว่า 1 เดือนถัดไปราคาทองจะขึ้นหรือลงแค่ไหน บริษัทจะได้มีทองคำในราคา ณ วันทำสัญญาซื้อทองคำล่วงหน้ามาทำการผลิต และได้กำไรจากคำสั่งจ้างผลิตมือถือนี้แน่นอน 1,500 ล้านบาทตามที่ได้คำนวณไว้

 

แต่ประโยชน์ของตลาดล่วงหน้าแบบข้างบนคือเรื่องของคนโลกสวย ในชีวิตจริงยังมีกลุ่มคนอีกจำพวกที่เห็นตลาดล่วงหน้าเป็นแหล่งเก็งกำไร วิธีทำกำไรก็คือถ้าเก็งว่าราคาทองจะขึ้น ก็จะเปิดสัญญาซื้อทองในตลาดล่วงหน้า หากราคาทองขึ้นมาก็ปิดสถานะสัญญาโดยการขายสัญญานั้นทิ้งไป ณ ราคาที่ขึ้นมา ไม่ต้องรอรับทองคำ แต่ได้รับราคาส่วนต่างไปแทน ยิ่งกติกาของตลาดล่วงหน้าโดยทั่วไปจะกำหนดราคาสัญญาซื้อหรือขายไม่ต้องจ่ายเต็มจำนวน จึงเกิดอัตราทดในการทำกำไรมากยิ่งขึ้น (Leverage) ลักษณะตัวอย่างของการ Leverage ที่เราเห็นในชีวิตจริงก็เช่นการเก็งกำไรคอนโด ทุกคนเชื่อว่าราคาคอนโดจะขึ้นไปเรื่อยๆ จึงรีบไปจองคอนโด บริษัทที่ขายคอนโดก็ให้จองในราคาเล็กน้อย ยังไม่ต้องจ่ายเต็มราคา คนที่จองได้ก็เหมือนกับเอาเงินจำนวนน้อยไปลงทุน และรอขายใบจองต่อโดยบวกเพิ่มราคาที่คิดว่าราคาคอนโดนั้นควรจะเป็น ทำให้ได้กำไรส่วนต่างของราคาคอนโดทั้งห้องโดยลงทุนแค่ราคาใบจอง

 

ในตลาดล่วงหน้าโลหะเงินหรือทองคำ ผู้จัดการตลาดจะมีการถือทองหรือโลหะเงินจำนวนหนึ่งเพื่อรองรับการไถ่ถอนตามสัญญา แต่ด้วยพฤติกรรมส่วนใหญ่ของนักลงทุนเก็งกำไร จึงมีสัดส่วนการปิดสัญญาและรับเข้าหรือถอนออกทองคำหรือโลหะเงินจริงน้อยมาก ขนาดของการเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้าใหญ่โตกว่าการซื้อขายในตลาดค้าขายทองคำหรือโลหะเงินชนิดเป็นก้อนเป็นแท่งจริงๆ เป็นพันเท่า ในปี 2017 ขนาดของตลาดโลหะเงินแท้เป็นแค่เพียง 0.0055% ของตลาดโลหะเงินล่วงหน้า

 

จากสัดส่วนของตลาดล่วงหน้าเมื่อเที่ยบกับตลาดซื้อขายสินค้าจริงที่มีความแตกต่างกันมาก จึงไม่อาจจะแน่ใจต่อไปได้ว่าพลังดีมานด์และซัพพลายที่มีผลต่อราคาสินค้าจริงจะต้านทานพลังการเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้าได้ ถ้าเทียบให้เห็นเป็นรูปธรรมในชีวิตจริงก็เช่น การล้มมวย นักมวยเก่ง รูปมวยดี แต่ถ้าผลประโยชน์มันเข้าตา ผลก็อาจจะออกมาไม่เป็นที่อย่างที่คาด แล้วในกรณีของตลาดทองคำหรือโลหะเงิน เขากดราคากันยังไง นี่คือลำดับขั้นตอนการกดราคา

  1. คนที่จะกดราคาจะเปิดสัญญาขายทองคำล่วงหน้าจำนวนมหึมาแบบปัจจุบันทันด่วน กระแทกให้ราคาทองฟิวเจอร์ในตลาดล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ (COMEX) ร่วงลง
  2. เมื่อรายใหญ่อยากเล่นทางลง และราคาฟิวเจอร์ลงแบบกระทันหันทำให้นักลงทุนบางส่วนถูกระบบบังคับขายเพื่อตัดการขาดทุน ผสมโรงกับนักเก็งกำไรที่ขายตามเพื่อร่วมขบวนกระแสทำกำไร ไปผลักดันให้เกิดแรงจูงใจในการขายตลาดทองคำจริงเพื่อให้ผู้เล่นในตลาดล่วงหน้า (Futures) ซึ่งเป็นกลุ่มได้ประโยชน์กลุ่มใหญ่ได้มีกำไร
  3. ทองคำจริงจากตลาด COMEX รวมถึงที่ตลาดทองคำลอนดอน (London Bullion Market) ส่วนที่ถูกขายออกจากแรงจูงใจที่ไม่ได้เกิดจากดีมานด์ซัพพลายจริง ไหลไปยังตลาดทองแห่งใหม่ในเอเชียนั้นคือตลาดทองเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Gold Exchange) ซึ่งจีนตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการดูดทองราคาถูกเข้าประเทศ

การสมยอมกันนี้เกิดขึ้นเพราะทุกคนในเกมได้ประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ผู้กดราคาสามารถบิดเบือนราคาทองคำหรือโลหะเงินเพื่อไม่ไห้ไปสะท้อนราคาค่าเงินจริง ผู้รับทองจริงไปก็รู้ว่านี่คือการบิดเบือน แต่อาศัยจังหวะนี้ในการเก็บของถูกและรอวันที่ความจริงทุกอย่างเปิดเผย

บทสรุป

จากทั้งหมดที่เขียนมาอย่างยาวแต่พยายามอธิบายแบบเข้าใจง่ายไม่ต้องซับซ้อน เราน่าจะได้เข้าใจตรงกันแล้วว่าสกุลเงินที่เราใช้กันทุกวันนี้ไม่ว่าจะเงินบาท เงินวอน เงินรูปี เงินยูโร เงินเยน เงินหยวน ที่แท้ก็เป็นองค์อวตารของเงินดอลล่าร์สหรัฐ และคุณค่าของเงินดอลล่าร์ก็ไม่ได้ผูกค่าไว้กับทองคำหรือโลหะมีค่าใดๆ เป็นแต่เพียงสกุลเงินที่ถูกบังคับว่าต้องมีไว้ใช้ซื้อน้ำมัน ส่วนตัวเงินดอลล่าร์เองจะมีค่ามากแค่ไหนก็ไม่สามารถไปเทียบค่ากับทองคำหรือโลหะเงินตามหลักดีมานด์ซัพพลายได้เพราะมันมีการบิดเบือนราคา (Gold Silver Manipulation) แม้ทองคำหรือโลหะเงินจะเป็นสิ่งที่มีค่าแท้จริงที่ชาวโลกคุ้นเคย ก็ไม่อาจจะแสดงค่าที่แท้จริงออกมาได้ ในสภาวะการเงินแบบนี้จึงทำให้มีคนแสวงหาที่พึ่งพาใหม่ และบิทคอยน์ก็ได้เกิดมาบนโลกที่กำลังคละคลุ้งไปด้วยการสร้างมายาภาพเพื่อหลอกลวงคุณค่าของเงิน แต่การจะกระโจนเข้าใส่บิทคอยน์ด้วยเหตุผลของความไม่ชัดเจนในระบบการเงินโลกแบบเดิมก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะบิทคอยน์ไม่ใช่สิ่งมีจำกัดอย่างแท้จริง โลกพร้อมจะมี บิทคอยน์ 1 บิทคอยน์ 2 และ 3 และ 4 หรือคอยน์อะไรๆ ออกมาได้อีกเพราะเป็นสิ่งที่คนสร้างขึ้นได้ และในอนาคตบิทคอยน์ก็สามารถถูกจับมาบิดเบือนราคาในตลาดล่วงหน้าได้เหมือนเช่นทองคำ

บทความตลอดทั้ง 3 ตอนที่เขียนมานี้ไม่อาจสรุปได้ว่าบิทคอยน์หรือสกุลเงินหรือทองคำ อะไรที่มีค่ามากน้อยกว่ากัน แต่เพียงแค่ได้เห็นพื้นฐานที่รองรับความน่าเชื่อถือของแต่ละสิ่ง ซึ่งการจะอยู่บนโลกการเงินใบนี้ต่อไปได้นั้นนับเป็นเรื่องที่ยากจริงๆ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *