Bitcoin vs ทองคำ vs สกุลเงินโลก ภาค 2

บทความนี้เป็นภาคต่อจากบทความก่อนหน้าที่พูดถึงสิ่งที่ทำให้คนเกิดความมั่นใจในเหรียญ หรือธนบัตรสกุลต่างๆ เพื่อจะนำมาค้นหาคุณค่าที่อยู่ในบิทคอยน์ที่ทุกคนกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้

 

ในตอนที่แล้วพูดถึงคุณค่าของโลหะมีค่าอย่างทองคำหรือเงินที่คนให้ความเชื่อมั่นมาตั้งแต่ยุคโรมัน ไม่ว่าประเทศจะผลิตเหรียญหรือธนบัตรออกมาให้ใช้ ถ้ามันสามารถแปลงเป็นโลหะมีค่าได้ เหรียญหรือธนบัตรนั้นก็จะเป็นที่ยอมรับ แต่หากเมื่อใดที่ไม่มีโลหะมีค่ามาหนุนหลังแล้วคนจะไม่มั่นใจและนำความมั่งคั่งที่ตัวมีไปแปลงเป็นสื่อกลางอื่นหรืออะไรก็แล้วแต่ที่เชื่อว่ามีค่าแท้จริงหนุนหลัง เหมือนกับตัวอย่างเหรียญเงินโรมันและเงินปอนด์อังกฤษที่หมดความน่าเชื่อถือที่เล่าไว้ในบทก่อนหน้า และทิ้งท้ายไว้ตรงเงินดอลล่าร์ที่เป็นเงินสกุลโลกปัจจุบันที่กำลังมีความเสี่ยงที่จะบั่นทอนความเชื่อมั่นของชาวโลก ในบทนี้จะมาเล่าต่อในเรื่องของดอลล่าร์สหรัฐล้วน ๆ เพื่อปูพื้นนำไปสู่ความเข้าใจในกระแสความคลั่งไคล้บิทคอยน์อยู่ในเวลานี้

 

ดอลล่าร์ สกุลเงินสำรองของโลก

จากความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของอังกฤษทำให้เงินปอนด์ที่เคยเป็นสกุลเงินสำรองที่ประเทศทั่วโลกถืออยู่หมดความเชื่อมั่น และในที่สุดประเทศเศรษฐีใหม่อย่างสหรัฐอเมริกาก็เสนอให้เงินสกุลดอลล่าร์เป็นสกุลเงินหลักของโลกแทน โดยประเทศต่างๆ มีมติยอมรับในการประชุม Bretton Wood Conference ในปี 1944 เงินสกุลดอลลาร์ผูกค่ากับทองคำที่ 35 เหรียญต่อออนซ์ ณ เวลานั้นปริมาณทองของสหรัฐมีมากถึงประมาณ 20,000 ตัน คิดเป็นประมาณ 80% ของปริมาณทองคำสำรองของทั้งโลกในขณะนั้น

 

ตั้งแต่ช่วงปี 1945 – 1965 ถือเป็นช่วงที่ดีที่สุดทางเศรษฐกิจของสหรัฐ การบริโภคขยายตัวขึ้นอย่างมากจากการเพิ่มประชากรที่อั้นกันไว้ในช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่จนถึงช่วงสงคราม เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่ารุ่นลูกมาก (Baby Boom) สังคมเริ่มปรับเปลี่ยนเป็นสังคมเมือง คนในภาคเกษตรเริ่มลดน้อยลง หันมาทำงานในเมือง ที่อยู่อาศัยในเมืองขยายตัวทำให้สินค้าทุกอย่างขายดีไปหมด แถมยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศอีกเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ ระดับค่าแรงเริ่มปรับตัวสูงขึ้นและพัฒนาไปสู่การใช้เทคโนโลยีแทนคนมากขึ้น การนำเข้าสินค้าพื้นฐานจากต่างประเทศถูกกว่าการผลิตใช้เอง สหรัฐพัฒนาตัวไปสู่การเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของโลก นำไปสู่ดุลบัญชีของประเทศที่เปลี่ยนทิศทางเป็นขาลง

นอกจากบทบาททางเศรษฐกิจที่สหรัฐเป็นผู้นำโลกแล้ว สิ่งที่เหมือนๆ กันกับอาณาจักรยิ่งใหญ่ทั้งหลายในอดีตคือการมีแสนยานุภาพทางทหารที่จะต้องเข้าไปดูแลผลประโยชน์ของชาติในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก โดยในเวลานั้นโลกแบ่งขั้วอำนาจชัดเจนเป็นฝ่ายโลกเสรีที่มีสหรัฐเป็นผู้นำและฝ่ายโลกสังคมนิยมที่มีรัสเซียและจีนเป็นผู้นำ เกิดเป็นความตึงเครียดของทั้งสองฝ่ายที่เรียกกันว่าเป็นสงครามเย็น มีการแข่งกันสร้างอาวุธรวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศซึ่งทั้งหมดล้วนแต่ต้องใช้เงิน

 

สงครามเย็นแม้ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปิดศึกกันระหว่างประเทศผู้นำของแต่ละฝ่าย แต่มักจะมาในรูปของสงครามตัวแทน อย่างเช่นสงครามเกาหลี และสงครามเวียดนาม และแน่นอนว่าสหรัฐในฐานะประเทศผู้นำฝ่ายเสรีต้องเข้าไปสกัดการขยายอิทธิพลของฝ่ายสังคมนิยม สหรัฐเปิดตัวลงสู่สมรภูมิสงครามเวียดนามในปี 1965 สงครามครั้งนี้ทำให้สหรัฐต้องใช้จ่ายเงินเยอะมาก จะเยอะแค่ไหนไม่รู้แต่ที่แน่ๆ คือเริ่มมีการตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าปริมาณทองคำสำรองของสหรัฐเริ่มอยู่ในฐานะที่ไม่มั่นคง หน่วยงานที่เป็นตัวฟ้องสัญญาณนี้คือ London Gold Pool หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นกองทองรวมการเฉพาะกิจแห่งลอนดอน

 

London Gold Pool ตั้งขึ้นมาในปี 1961 โดยธนาคารกลางสหรัฐและ 7 ชาติยุโรป เพื่อเอาไว้รักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนทองคำให้คงที่ที่ 35 เหรียญหรือใกล้เคียง ธุรกรรมระหว่าง London Gold Pool กับช่องหน้าต่างแลกทองคำของธนาคารกลางสหรัฐจะมีความสมดุลกัน การควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนทองคำนี้ใช้การได้อยู่เพียง 6 ปี และเริ่มพบว่าอัตราที่ตั้งนี้เริ่มต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ประเทศสมาชิกเริ่มไหวตัวและถอนออกจากพูล และหน่วยงานนี้ก็ไม่ได้ไปต่อในปี 1968 ถือเป็นความล้มเหลวในการรักษาค่าแลกเปลี่ยนทองคำ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเกิดจากการใช้จ่ายเกินตัวของสหรัฐและไม่สามารถรักษาวินัยในการพิมพ์เงิน ทำให้ค่าเงินดอลล่าร์ที่แท้จริงต่ำกว่าที่กำหนดเมื่อเทียบกับทองคำ และนำไปสู่ความเสี่ยงที่ประเทศต่างๆ ที่ถือดอลล่าร์จะมาขอขึ้นทองคำคืนที่หน้าต่างแลกทองของธนาคารกลางสหรัฐ

 

ข้อมูลในปี 1966 ประเทศยุโรปถือเงินดอลล่าร์รวมกัน  14,000 ล้านดอลล่าร์ แต่ที่ธนาคารกลางสหรัฐมีทองคำสำรองแค่ 13,200 ล้านดอลล่าร์ และเป็นส่วนที่สำรองเอาไว้รองรับการใช้ธนบัตรดอลล่าร์ที่หมุนเวียนใช้ในอเมริกาเอง 10,000 ล้านดอลล่าร์ แปลว่าเหลือทองคำปริมาณแค่ 3,200 ล้านเหรียญดอลล่าร์ที่จะจ่ายแลกให้แก่ผู้ถือดอลล่าร์ในต่างประเทศได้ ฟังแล้วขนพองสยองเกล้าแก่เหล่าเจ้าหนี้ไหมครับ ในกลางปี 1971 เยอรมันถอนตัวออกจากข้อตกลง Bretton wood และขอเอาดอลล่าร์ที่มีไปแลกทองคำคืน คราวนี้ราวกับท่อประปาแตก ประเทศยุโรปอย่างสวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศสต่างขอเอาดอลล่าร์มาแลกเป็นทองคำคืนบ้าง สุดท้ายประธานาธิบดีนิกสันประกาศเลิกมาตรฐานทองคำเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1971 เพราะไม่มีทองคำพอให้แลกคืน

 

จากการประกาศยกเลิกมาตรฐานทองคำทำให้ทุกประเทศต่างช็อคไปตามๆ กัน (Nixon Shock) นั่นแปลว่าเงินดอลล่าร์ที่แต่ละประเทศอุตส่าห์หน้าดำคร่ำเครียดขายของให้สหรัฐอเมริกาอย่างเหนื่อยยาก กลายเป็นว่าได้เงินที่ด้อยค่ากลับมาแทน นี่คือครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาหลอกทำนาบนหลังคนทั่วโลก

 

หลังการประกาศยกเลิกมาตรฐานทองคำของสหรัฐจึงไม่มีประโยชน์ที่ประเทศใดจะยึดตามข้อตกลง Bretton wood อีก อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลล่าร์ที่เคยฟิกซ์ค่ากับเงินสกุลอื่นๆ จึงเปลี่ยนเป็นลอยค่าเงิน ซึ่งคำนี้คนไทยน่าจะคุ้นดี มันคือคำสุภาพของการลดค่าเงินนั่นเอง เงินดอลล่าร์ตกไปเหลือหนึ่งในสาม ราคาทองกลับพุ่งขึ้นไป เศรษฐกิจของอเมริกาหดตัวลง เงินดอลล่าร์ถูกพิมพ์ขึ้นมาโดยไม่มีทองคำหนุนหลังแล้ว เป็นเงินที่พิมพ์เลขราคาให้เชื่อตามนั้น (Fiat currency) สินค้านำเข้าก็แพงขึ้นหมด สะเทือนไปถึงประเทศอื่นๆ ที่เป็นผู้ขายอย่างญี่ปุ่น ยุโรปและทั่วโลกก็แย่ตามไปหมด เมื่อเศรษฐกิจหดตัวการถล่มลงของตลาดหุ้นจึงเกิดขึ้นอีกครั้งแถมซ้ำเติมด้วยวิกฤติราคาน้ำมันซึ่งมีสาเหตุมาจากอียิปต์ที่โซเวียตหนุนหลังและกลุ่มประเทศอาหรับสู้รบเพื่อขับไล่อิสราเอลที่เข้าไปบุกยึดแหลมไซนายและที่ราบสูงโกลัน แต่ประเทศสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่นสนับสนุนอิสราเอล โอเปคเลยลดการผลิตและไม่ขายน้ำมันให้สหรัฐและพวกเป็นการตอบโต้ เป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจของสหรัฐและทั้งโลกเข้าไปอีก

 

สงครามรุนแรงขึ้น สหรัฐขออนุมัติสภาคองเกรสอนุมัติเงิน 2,200 ล้านเหรียญจ่ายให้ลิเบีย ซาอุดิอารเบียและชาติอาหรับในโอเปคที่เหลือเพื่อให้เลิกเป็นพันธมิตรกับอียิปต์ ทำให้สงครามครั้งนี้สิ้นสุดโดยฝ่ายอิสราเอลก็ยอมถอนทหารกลับ

 

สหรัฐเห็นแล้วถึงความสำคัญของน้ำมันและความมั่นคงของเงินดอลล่าร์ จึงได้เจรจาจะให้การช่วยเหลือด้านอาวุธและอุปกรณ์ป้องกันภัยต่างๆแก่ซาอุดิอารเบีย โดยขอแลกกับการกำหนดให้การค้าขายน้ำมันของซาอุดิอารเบียที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของกลุ่มโอเปกให้ขายน้ำมันด้วยเงินดอลล่าร์เท่านั้นจากที่แต่เดิมกำหนดราคาขายที่ยึดกับราคาทองคำ และซาอุดิอารเบียก็ได้เกลี้ยกล่อมโอเปกให้กำหนดราคาขายเป็นดอลล่าร์ด้วย จากนั้นการขายน้ำมันของโอเปกก็กำหนดราคาเป็นดอลล่าร์ (Petrodollar)

 

การขายน้ำมันของโอเปกเป็นเงินดอลล่าร์หรือที่เรียกว่า Petrodollar เป็นการปลุกชีพจรของสหรัฐให้ฟื้นกลับขึ้นมายิ่งใหญ่อีกครั้งหลังจากพังพินาศไปกับการไม่ผูกค่าเงินดอลล่าร์กับทองคำ ความที่ทุกประเทศต้องการใช้น้ำมัน ดังนั้นทุกประเทศจึงต้องการเงินดอลล่าร์เพื่อใช้ซื้อน้ำมันจากโอเปก เงินดอลล่าร์จึงกลับกลายเป็นเงินสกุลจำเป็นที่ทั่วโลกต้องมีสำรองไว้ ทุกประเทศจึงต้องหน้าดำคร่ำเครียดขายของให้สหรัฐอีกครั้งเพื่อเอาเงินดอลล่าร์มาไว้ซื้อน้ำมัน เหลือเงินเท่าไหร่ก็ต้องสำรองเก็บไว้โดยนำส่งเข้าธนาคารกลางของประเทศตัวเอง ตัวธนาคารกลางเองก็มักไม่เก็บในรูปของเงินดอลล่าร์เพราะเก็บไว้ก็ไม่ได้ดอกผล จึงใช้วิธีเก็บสำรองดอลล่าร์ด้วยการนำดอลล่าร์นั้นกลับมาซื้อพันธบัตรสหรัฐมาเก็บไว้ เพราะอย่างน้อยก็มีดอกเบี้ยและมีสภาพคล่องสูง หากจำเป็นต้องใช้ดอลล่าร์เพื่อเหตุจำเป็นเร่งด่วนเช่นเพื่อเข้าแทรกแซงค่าเงินเนื่องจากการถูกโจมตีในตลาดเงิน(ถ้าซวย) ธนาคารกลางก็จะขายพันธบัตรได้เงินทันทีเพื่อใช้ในการแทรกแซง

 

ด้วยเหตุนี้เงินดอลล่าร์จึงเหมือนเป็นเงินที่ทั่วโลกใช้เป็นสินทรัพย์หนุนหลัง และทุกประเทศล้วนมีเงินดอลล่าร์สำรองอยู่เป็นสัดส่วนที่มากเหมือนๆ กัน ยกตัวอย่างประเทศไทย เมื่อสิ้นปี 2560 เรามีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 2 แสนล้านดอลล่าร์ เก็บเป็นทองคำประมาณ 3% อีก 97% ที่เหลือเก็บเป็นทรัพย์สินต่างประเทศที่ประกอบไปด้วยพันธบัตรสหรัฐ พันธบัตรยูโร และพันธบัตรญี่ปุ่น พันธบัตรจีน พันธบัตรออสเตรเลียในสัดส่วนประมาณ 65 : 25 : 5 : 3 : 2 ตามลำดับ ซึ่งก็เป็นสัดส่วนโดยเฉลี่ยที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกมักใช้กัน ในเงินสำรอง 200,000 ล้านดอลล่าร์นี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเงินที่เอาไปใช้ที่ไหนไม่ได้เพราะต้องกันเป็นทุนหนุนหลังการใช้ธนบัตรในประเทศประมาณ 80,000 ล้านดอลล่าร์ เหลืออีก 120,000 ล้านดอลล่าร์ก็ต้องเตรียมสำหรับพร้อมรับการเรียกคืนหนี้ต่างประเทศหรือไว้พยุงค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ จากข้อมูลนี้เห็นกันลางๆ แล้วหรือยังว่าเงินบาทที่เราถืออยู่อย่างเช่นแบ๊งก์ร้อยทุกวันนี้มีคุณค่าเท่ากับทองคำเพียง 3 บาท และเป็นเสี้ยวแบ๊งก์อเมริกาไป 64 บาท แบ๊งก์ยูโร 24 บาท แบ๊งก์เยน 5 บาท แบ๊งก์จีนกับออสเตรเลียรวมกันอีก 4 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 100 บาทไทยที่อยู่ในมือ

 

ตอนนี้เริ่มรู้สึกอินกับความเป็นโลกาภิวัฒน์แล้วหรือยังครับว่าโลกมันเกี่ยวกันหมด ถึงจะไม่อยากจะเกี่ยว มันก็ตามมาเกี่ยวจนถึงในกระเป๋าสตางค์จนได้ เรื่องยังมีเหลืออีกพอสมควร หากเขียนต่อก็จะทำให้บทความนี้ยาวเกินไป จะเหนื่อยอ่านกันซะก่อน เลยจะขอไปต่อภาค 3 แล้วกันนะครับ แต่เท่าที่เราเข้าใจตรงกันตอนนี้คือหลังจากสหรัฐไม่ผูกค่าเงินดอลล่าร์กับทองคำแล้ว เงินดอลล่าร์จึงไม่มีโลหะมีค่าหนุนหลังอีกต่อไป กลายเป็น Fiat currency โดยสมบูรณ์ และเงินบาทของเราก็ใช้เงินทุนสำรองหนุนหลังซื่งมีทองคำหนุนเพียง 3% นอกนั้นหนุนหลังด้วย Fiat currency ซึ่งก็แปลว่าเงินบาทก็เป็นร่างจำแลงของ Fiat currency เหมือนๆ กับเงินประเทศต่างๆ ทั่วโลกครับ

คลิกเพื่ออ่านภาคจบ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *