Bitcoin vs ทองคำ vs สกุลเงินโลก ภาค 1

บิทคอยน์เกิดขึ้นมาในปี 2009 เกิดขึ้นมาในช่วงเวลาแห่งความพลิกผันทางด้านการเงินที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก ไม่ใช่แค่วิกฤติซับไพรม์ที่ทำให้ธนาคารใหญ่ของโลกอย่าง Lehman Brothers ถึงกับล่มสลาย แต่แท้จริงแล้วมันรุนแรงยิ่งกว่านั้นมาก การจะอธิบายให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งให้เป็นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ก็ต้องร่ายยาวถึงประวัติศาสตร์และที่มาตั้งแต่ยุคอดีตเพื่อเราจะได้ทำความเข้าใจและรู้เท่าทัน ไม่ใช่เพียงแค่ฟังคำเตือน (เอ๊ะ! หรือว่าเป็นคำขู่) ว่าให้หลีกเลี่ยงบิทคอยน์ อย่าเข้าไปยุ่งกับมันเชียวนะ มันคือการพนัน มันคือการหลอกลวง บทความนี้เป็นภาคต่อจากเรื่อง “ทำไมบิทคอยน์จึงมีค่า” ซึ่งสามารถคลิกไปอ่านย้อนเพื่อปูพื้นความเข้าใจในเรื่องที่กำลังจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้

 

ประวัติเกี่ยวกับเหรียญ (Coin) ของโลก

600 ปีก่อนคริสต์กาลอาณาจักรลิเดีย (Lydia อยู่ในตำแหน่งประเทศตุรกีในปัจจุบัน) เป็นผู้สร้างเหรียญเงินผสมทองคำออกมาใช้เป็นแห่งแรกในโลกเพื่อเอาไว้เป็นสื่อกลางการซื้อขาย ด้วยวิธีการแยกเนื้อทองคำออกจากเนื้อเงินได้จึงทำให้การตีมูลค่าเป็นที่แน่ชัดหมดข้อกังวลสงสัย การใช้เหรียญสร้างความเชื่อมั่นและวัฒนธรรมการใช้เหรียญก็กระจายไปยังอาณาจักรต่างๆ แต่ละอาณาจักรก็มีรูปแบบเหรียญเป็นของตนเองซึ่งการตีมูลค่าก็พิจารณาจากเนื้อน้ำหนักของโลหะมีค่าที่ผสมอยู่ในเหรียญ

 

จากเหรียญมาเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินและธนบัตร

พัฒนาการจากเหรียญมาเป็นเงินกระดาษเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับการค้าขายข้ามแดนในยุคโบราณ ความปลอดภัยและความสะดวกในการพกเหรียญจำนวนมากติดตัวทำให้เกิดคนกลางที่ทำหน้าที่สร้างความเชื่อมั่นในกระดาษด้วยการสัญญาว่าจะจ่ายเป็นเงินเหรียญคืนให้เมื่อทวงถาม คนกลางจะต้องมีเครือข่ายบริการซื้อและขายกระดาษสัญญาแลกใช้เงินตลอดเส้นทางการค้าและมีเงินเหรียญสำรองในปริมาณที่เพียงพอพร้อมต่อการแลกคืน พ่อค้าที่ถือกระดาษสัญญาจึงมั่นใจได้ว่ามีค่าเงินเหรียญจริงหนุนหลังอยู่

 

อาณาจักรเห็นข้อดีในการออกกระดาษแทนเงินเหรียญจึงพัฒนามาเป็นเงินกระดาษเพื่อใช้ในอาณาจักร และกลายเป็นธนบัตรที่ใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนที่ใช้ร่วมไปกับเงินเหรียญที่มีค่าตามน้ำหนักโลหะมีค่าในตัวของมันเอง จึงเห็นได้ว่าทั้งธนบัตรและเงินเหรียญต่างก็ผูกค่าของตัวเองไว้กับโลหะมีค่า

 

การล่มสลายของอาณาจักรเพราะเรื่องเงินๆ ทองๆ

ตราบใดที่เงินเหรียญยังมีค่าในตัว เสถียรภาพจะยังคงอยู่กับอาณาจักร ที่กล่าวเช่นนี้เพราะมีประวัติศาสตร์ให้เห็นว่าเมื่อใดที่อาณาจักรเริ่มบิดเบือนคุณค่าของเงินเหรียญความหายนะก็กำลังจะตามเข้ามา ตัวอย่างเช่นอาณาจักรโรมัน

 

อาณาจักรโรมันยิ่งใหญ่มาก ความแข็งแกร่งทางทหารทำให้ขอบเขตของอาณาจักรกว้างไกลและทรัพยากรทั้งหมดถูกดูดเข้าสู่โรมซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักร เมื่ออาณาจักรร่ำรวยก็ใช้ความรวยนั้นในการบริโภคอย่างเต็มที่ เงินทองถูกใช้ไปกับการสร้างพระราชวังใหญ่โต วัดวิหารสวยงาม สถานบันเทิงที่มีดาษดื่นทั้งเล็กและใหญ่มหึมา รวมถึงค่าใช้จ่ายทางทหารเพื่อรักษาขอบเขตของอาณาจักร เมื่อการใช้จ่ายเกินกว่าภาษีที่เก็บได้ทางออกแรกคือการเก็บภาษีเพิ่ม รวมถึงต้องขยายอาณาจักรออกไปอีกเพื่อริบเอาความมั่งคั่งจากอาณาจักรอื่นเข้ามา ยิ่งได้เงินมามากก็ใช้จ่ายมาก ติดนิสัยจมไม่ลง คุณภาพชีวิตชาวโรมสูงกว่าคนทั่วไปในโลกเวลานั้น ภาระค่าใช้จ่ายที่มากเกินไปทำให้เกิดสภาพขาดดุล เงินเหรียญที่หมุนเวียนใช้อยู่เริ่มมีเหรียญหลอมใหม่ที่ลดสัดส่วนโลหะมีค่าให้เข้ามาผสมใช้ เรื่องแบบนี้หลอกกันไม่ได้นาน เมื่อคนเริ่มระแคะระคายและรู้ว่าค่าของเงินนั้นน้อยลง ราคาสินค้าจึงถีบตัวสูงขึ้นกลายเป็นภาวะเงินเฟ้อ อาณาจักรรอบข้างที่เคยอยู่ภายใต้การครอบครองเริ่มตีตัวออกห่าง โรมันจึงต้องใช้กำลังทหารเข้าจัดการซึ่งแปลว่าต้องมีเงินมาสนับสนุน การปั๊มเงินจึงยิ่งทำออกมามาก ในเมื่อพระคลังมีเงินเท่าเดิม สัดส่วนโลหะเงินจึงต้องน้อยลงไปอีก ภาวะเงินเฟ้อจึงรุนแรงขึ้นและนำไปสู่การกบฏภายในอาณาจักร พออาณาจักรอ่อนแอก็ถูกอาณาจักรอื่นที่แม้จะเจริญน้อยกว่าซึ่งอยู่ทางตอนเหนือเข้าบุกยึด ถือเป็นการล่มสลายของอาณาจักรโรมันในยุโรป

 

ประวัติศาสตร์มักซ้ำรอยเดิม

การยึดให้เหรียญหรือธนบัตรมีคุณค่าจริงเทียบได้กับโลหะมีค่าจึงเป็นมาตรฐานที่คนทั่วไปยอมรับ ประเทศต่างๆ ในอดีตเรื่อยมาจึงยึดเอาโลหะมีค่าเป็นสิ่งหนุนหลังการทำเหรียญหรือพิมพ์ธนบัตรออกใช้ ประเทศใดมีอาณาเขตแผ่ไกลแค่ไหนก็จะเอาสกุลเงินของตนให้ใช้ได้ทั่วถึง แม้แต่ธนบัตรไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ยังมีภาษามลายูและภาษจีนในธนบัตรเพื่อให้คนมลายูในรัฐภาคใต้ได้ใช้ ยิ่งอาณาจักรแผ่ขยายเท่าใด การใช้เงินสกุลนั้นก็จะแผ่ไปถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษซึ่งเป็นอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น

 

อังกฤษแม้จะเป็นประเทศที่ไม่ใหญ่โตนักแต่กลับเป็นอาณาจักรที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีอาณานิคมอยู่ทุกทวีปในโลก ความร่ำรวยของอังกฤษมาจากการดึงทรัพยากรจากประเทศอาณานิคมเข้าสู่ลอนดอน ทำให้ประเทศอังกฤษมีทองคำมากที่สุดในโลก เงินสกุลปอนด์มีความมั่นคงน่าเชื่อถือเพราะอิงตามมาตรฐานทองคำ (Gold standard) การค้าขายที่ทำกับอังกฤษมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่แน่ชัด แม้แต่ไทยที่ตั้งแต่ทำสัญญาบาวริ่ง เงินปอนด์ก็ไหลทะลักเข้าไทยเพราะการเข้ามาซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก จนเงินปอนด์กลายมาเป็นเงินสำรองส่วนหนึ่งในพระคลังมหาสมบัติ และเช่นเดียวกับทุกประเทศที่ค้าขายกับอังกฤษก็จะมีเงินปอนด์กลายเป็นเงินสำรอง (Reserved currency) เรียกได้ว่า ณ เวลานั้นเงินปอนด์กลายเป็นเงินสำรองของโลกซึ่งมีทองคำหนุนหลัง (Gold based global currency)

 

สงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้อังกฤษต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในสงครามอย่างมาก และการค้าขายก็ทำได้อย่างยากลำบากมีผลให้แม้จะชนะสงครามแล้วในปี ค.ศ. 1918 ก็ไม่ทำให้สถานการณ์การเงินดีขึ้นเพราะประเทศเยอรมันผู้แพ้สงครามก็ไม่ได้มีเงินมาชดใช้หรือมีอาณานิคมให้ยึดมาได้มากนัก อังกฤษจากที่เคยเป็นผู้ให้กู้เงินรายใหญ่ของโลกกลับกลายเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของสหรัฐและฝรั่งเศส จนเมื่อถึงเหตุการณ์วิกฤติทางการเงินในสหรัฐ (The Great depression) ในปี ค.ศ. 1929 ที่เกิดการเก็งกำไรกันอย่างมโหฬารในตลาดหุ้นนิวยอร์คและในที่สุดก็เกิดการพับฐานอย่างรุนแรงของดัชนีราคาหุ้น ทำให้ผู้ลงทุนทั้งรายย่อยและรายใหญ่ขาดทุนอย่างหนักทั่วหน้า เมื่อความฟู่ฟ่าในตลาดเก็งกำไรหดตัวก็นำพาไปสู่การหดตัวของเศรษฐกิจจริง ทำให้สถาบันการเงินใหญ่ของอเมริกาและฝรั่งเศสเริ่มไม่มั่นใจในมูลค่าเงินปอนด์ รัฐบาลอังกฤษตรองแล้วพบว่าหนี้สินขนาดนั้นมีทองคำไม่พอจ่ายจึงตัดสินใจประกาศเลิกมาตรฐานทองคำในปี ค.ศ. 1931 แปลว่านับจากนั้นเงินปอนด์ไม่ผูกค่ากับทองคำอีกต่อไป

 

การยกเลิกมาตรฐานทองคำของอังกฤษส่งผลทันทีให้ค่าเงินปอนด์ตกลง (เหมือนที่เคยเป็นในอาณาจักรโรมัน) กระทบเป็นลูกโซ่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ประชาชนไม่แน่ใจในมูลค่าเงิน แห่กันไปถอนเงินจากธนาคาร จนประธานาธิบดีรูสเวลต้องประกาศเป็นวันหยุดธนาคาร 8 วันรวดตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1933 เพื่อหยุดความตระหนกและเร่งแก้ไขปัญหาความไม่มั่นใจในเงินดอลล่าร์ด้วยการจะกลับไปผูกค่าเงินกับมาตรฐานทองคำ จึงมีการออกกฎหมายตามมาในเดือนถัดมาเพื่อขอคืนทองคำจากประชาชนกลับมาเก็บรวมไว้เป็นสำรองของประเทศ โดยรัฐบาลจะชดเชยคืนให้ออนซ์ละ 20 เหรียญ และประกาศว่าห้ามประชาชนถือทองคำเองอีกต่อไป ทองคำที่รัฐรวบรวมได้ก็เอาไปเก็บที่ฟอร์ทน็อกซ์ (Fort Knox) ในรัฐเคนทักกี

 

อังกฤษยิ่งสูญเสียความมั่งคั่งลงไปอีกจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเป็นฐานการผลิตสินค้าและอาวุธส่งขายให้แก่ยุโรป จนเมื่อสิ้นสงครามทองคำจากอังกฤษและฝรั่งเศสก็ไหลไปที่ฟอร์ทน็อกซ์ รวมทองคำที่สหรัฐมีในขณะนั้นคือประมาณ 2 หมื่นตัน

 

สกุลเงินปอนด์ในเวลานั้นหมดความเชื่อถือของชาวโลกแล้ว และการยอมรับสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐเป็นสกุลเงินหลักของโลกเกิดขึ้นในการประชุมของสมาชิกประเทศต่างๆ ที่ Bretton Wood รัฐนิวแฮมเชอร์ในปี ค.ศ. 1944 ซึ่งสหรัฐเสนอให้สกุลเงินดอลล่าร์เป็นสกุลเงินหลักของโลกและกำหนดค่าแลกกับทองคำที่แน่นอนคือ 35 เหรียญต่อออนซ์ (เป็นคำประกาศที่ทำให้คนสหรัฐแค้นมากเพราะริบทองเขาไปที่ราคา 20 เหรียญ) การกำหนดค่าแลกเปลี่ยนกับสกุลเงินต่างๆ ให้กำหนดเป็นอัตราที่แน่นอน และหากจะมีการเปลี่ยนแปลงจากอัตรานั้นให้หารือร่วมกับกองทุน IMF ที่ก่อตั้งขึ้นใหม่

 

ประวัติศาสตร์กำลังซ้ำรอยเดิมกับจักรวรรดิ์ใหม่

อย่างที่ได้เห็นตัวอย่างกันแล้วสำหรับการเป็นสกุลเงินที่น่าเชื่อนั้นต้องมีคุณค่าที่แท้จริงผูกไว้อยู่เบื้องหลัง ทั้งจักรวรรดิ์โรมันและจักรวรรดิ์อังกฤษต่างก็มีเส้นทางของการรุ่งเรืองเติบโต และการเสื่อมถอยของอำนาจในรูปแบบคล้ายๆ กัน โดยมีเรื่องของความเชื่อถือในค่าของเงินเป็นพื้นฐานของความมั่นคง และในปัจจุบันวัฏจักรของการเกิดขึ้น รุ่งเรืองและเสื่อมถอยก็เกิดขึ้นอีก เป็นอย่างนี้วนเวียนซ้ำ แต่วันนี้ขอพักแค่นี้ไว้ก่อน เดี๋ยวจะมาต่อในเรื่องของเงินดอลล่าร์สหรัฐในตอนหน้านะครับ

คลิกเพื่ออ่านตอนต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *