ทำไมบิทคอยน์จึงมีค่า

บิทคอยน์ Bitcoin

บิทคอยน์เป็นเงินดิจิตอลสกุลแรกที่เริ่มเป็นที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 เป็นเงินที่ไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดเป็นผู้ควบคุมระบบ แตกต่างจากเงินสกุลปกติ (Currency) ที่เราคุ้นเคยที่มีธนาคารกลางเป็นผู้ควบคุมการผลิตและดูแลปริมาณเงินในระบบให้เหมาะสมกับสภาพการณ์เศรษฐกิจของประเทศ บิทคอยน์เป็นเงินที่ไม่มีตัวตนแต่มีอยู่จริงบนโลกอินเตอร์เนต ผู้ถือบิทคอยน์สามารถส่งเงินนี้ให้กับคนอื่นที่มีกระเป๋าสตางค์บิทคอยน์ได้ผ่านระบบอินเตอร์เนต โดยเทคโนโลยีที่รองรับการใช้งานบิทคอยน์คือเทคโนโลยีที่ชื่อว่าบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเจ้าเทคโนโลยีบล็อกเชนนี้เองที่เป็นสิ่งที่สร้างความมั่นคงน่าเชื่อถือ และทำให้ระบบการใช้เงินบิทคอยน์มีความถูกต้อง ปราศจากการโกง และเป็นระบบที่ไม่มีใครสามารถเข้าไปทุจริตแก้ไขประวัติข้อมูลใดๆ ได้

นายซาโตชิ นากาโมโต (Satoshi Nakamoto) เป็นผู้สร้างระบบบิทคอยน์นี้ขึ้นมา เขาเขียนโปรแกรมนี้ขึ้นและเป็นโปรแกรมที่เปิดเผยต่อสาธารณะ (Open source) ซึ่งใครๆ ก็สามารถเปิดอ่านทุกรายละเอียดในโปรแกรมได้ เจตนาของเขาคือการสร้างเงินดิจิตอลเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเก็บรักษาความมั่งคั่งและเอาไว้ใช้จ่ายได้ เขากำหนดให้บิทคอยน์มีทั้งหมดทั้งสิ้นเพียงแค่ 21 ล้านบิทคอยน์

ณ วันแรกที่ระบบบิทคอยน์ถือกำเนิดในโลกยังไม่มีบิทคอยน์นำออกมาใช้เลยแม้แต่เหรียญเดียว การจะมีบิทคอยน์ได้ในยุคแรกคือต้องขุดออกมาเท่านั้น เปรียบไปก็เหมือนกับสินแร่โลหะมีค่าตามธรรมชาติอย่าง ทองคำหรือเงิน ที่ต้องไปขุดไปร่อนมา แต่ความต่างอยู่ที่วิธีการขุดและความมีอยู่ที่จำกัด เพราะบิทคอยน์มีแค่เพียง 21 ล้านเหรีญญที่จะสามารถขุดออกมาได้เท่านั้น เมื่อขุดออกมาหมดแล้วก็ไม่มีให้ขุดอีก ปัจจุบันบิทคอยน์ถูกขุดออกมาแล้วประมาณ 16 ล้านบิทคอยน์ และในปี 2036 จะมีบิทคอยน์ถูกขุดออกมา 99% ซึ่งจากโปรแกรมที่นายซาโตชิเขียนไว้ประเมินกันว่าบิทคอยน์จะถูกขุดออกมาหมดครบ 100% ในประมาณปี ค.ศ. 2140

วิธีขุดบิทคอยน์ออกมาคือต้องใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไปสุ่มหารหัสที่ถูกต้องเพื่อไปคำนวณในโจทย์คณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนเพื่อให้ได้ผลลัพท์ตามเกณฑ์ที่ระบบตั้งค่าไว้ เช่นเมื่อคำนวณออกมาแล้วได้ผลลัพธ์ (Target) เป็นค่าใดก็แล้วแต่ขนาด 256 หลัก เกณฑ์ที่ต้องผ่าน(ยกตัวอย่าง)คือ หลักแรกต้องเป็น 0 แล้วหลักต่อๆ ไปจะให้เป็นอะไร โดยมากแล้วจะให้ติด 0 มากๆ อะไรประมาณรูปตัวอย่างนี้

ในช่วงแรกๆ ระดับเกณฑ์จะยังไม่ยากมาก (ถึงไม่ยากก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์ระดับสูงๆ เข้ามาใช้คำนวณ) แต่ต่อมาเมื่อบิทคอยน์ถูกขุดออกมาได้ตามจำนวนที่นายซาโตชิกำหนด เกณฑ์จะถูกปรับให้ค่าความยาก (Difficulty) ยากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในยุคปัจจุบันการใช้คอมบ้านๆ มาขุดบิทคอยน์เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แล้ว ต้องใช้เครื่องที่ออกแบบมาเฉพาะหน้าที่นี้ที่เขาเรียกเครื่องพวกนี้ว่าเอซิก (ASIC) เอามาตั้งเรียงกันเป็นชั้นๆ ราวกับในซุปเปอร์มาร์เกต ซึ่งการปรับระดับความยากในการขุดบิทคอยน์เปรียบเทียบง่ายๆ ก็ลองนึกถึงเล่นไพ่ป๊อก มันยากแค่ไหนที่จะได้รับการแจกไพ่มาให้ติดป๊อก 9 หรือป๊อก 8 ต้องป๊อกถึงจะได้กิน แล้วพอเล่นๆ ไป เจ้ามือก็ตัดป๊อก 8 ออก เปลี่ยนให้เหลือแค่ป๊อก 9 พอเล่นไปอีกก็บอกว่าต้องป๊อก 9 ดอกเดียวกัน และอีกมากมายที่จะมาสกัดดาวรุ่ง เรียกได้ว่าการจะขุดบิทคอยน์ออกมาได้ในยุคนี้ทั้งยากและมีต้นทุนที่สูงมากทั้งค่าอุปกรณ์และสถานที่ ค่าไฟฟ้า และค่าแรงคนทำ ในเมื่อมันทั้งยากและสิ้นเปลืองทรัพยากรและเงินทองขนาดนี้เพื่อให้ได้บิทคอยน์มา จึงเป็นคำถามที่ว่ามันมีค่าอะไรขนาดนั้น แต่ก่อนจะหาคำตอบนี้ได้ เราลองมาทบทวนดูว่าเงินหรือสิ่งมีค่าที่เรามีใช้อยู่ทุกวันนี้ ราคาและมูลค่าแท้จริงของมันมีที่มาอย่างไร

ที่มาของมูลค่าเงินสกุลต่างๆ ในปัจจุบัน รวมไปถึง ทองคำ

มูลค่าเป็นเรื่องของความรู้สึก น้ำหนึ่งแก้วในทะเลทรายแห้งผากอาจมีค่ามากกว่าทองคำ เกลือจากเมืองชายฝั่งทะเลมีค่าทันทีสำหรับคนใจกลางทวีป มูลค่าจึงขึ้นอยู่กับแต่ละคนที่มีความต้องการในสิ่งนั้นๆ มากแค่ไหน ถ้ายิ่งของสิ่งนั้นสามารถเก็บรักษาสภาพไว้ได้นาน พกพาสะดวก แบ่งแยกย่อยแจกจ่ายได้ และสำคัญคือเป็นสิ่งที่หาได้ยากและคนทั่วไปต้องการ สิ่งนั้นสามารถกลายเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนได้ อย่างในประวัติศาสตร์พบว่ามนุษย์ใช้ เกลือ ชา ผ้าไหม เงิน ทองคำ เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน

สื่อกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนทำให้คนหมดปัญหาระหว่างกันในการแลกสิ่งของที่มีมูลค่าไม่เท่ากัน เช่นมีวัว 1 ตัว แต่อยากได้ไก่ 1 ตัว ถ้าไม่มีสื่อกลางแลกเปลี่ยนคงจะทำให้การแลกเปลี่ยนที่เป็นธรรมไม่เกิดขึ้น และจากสื่อกลางหลายๆ รูปแบบในอดีตที่ผ่านการใช้งานและอยู่รอดมาได้โดยที่ผู้คนทั่วไปยังยอมรับนั่นก็คือบรรดาโลหะมีค่าอย่างทองคำและเงิน

เงินและทองคำถูกใช้เป็นสื่อแลกเปลี่ยนมานานนับตั้งแต่ยุคโรมัน เงินของแต่ละอาณาจักรก็มีขนาดและหน้าตาแตกต่างกัน และมีสัดส่วนของเงินและโลหะผสมชนิดอื่นอีกที่ไม่เท่ากัน อัตราแลกเปลี่ยนเงินของแต่ละอาณาจักรจึงกำหนดตามมูลค่าแต่ละเนื้อโลหะเป็นหลัก เงินและทองคำเป็นของที่มีค่าในตัวเองและคนทั่วไปเชื่อถือและให้คุณค่าว่าเป็นของมีค่ามาอย่างยาวนาน แต่เมื่อการค้าขายมีขอบเขตกว้างไกลขึ้น พ่อค้าที่รอนแรมเดินทางผ่านอาณาจักรต่างๆ มีความเสี่ยงอย่างสูงในการนำโลหะมีค่าติดตัวไปจำนวนมากแถมยังหนักและเป็นภาระ ระบบการค้าจึงเริ่มพัฒนาตั๋วเงินเพื่อใช้แทนเงินสำหรับใช้กันเฉพาะกลุ่มของตน ระบบตั๋วเงินนี้ต้องมีกติกาที่ทำให้สมาชิกมั่นใจได้ว่ากระดาษหรือตั๋วเงินนั้นมีค่าเสมือนเงินหรือทองคำจริง นำมาแลกตามตกลงเมื่อใดก็ต้องได้เมื่อนั้น

คนที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางจัดการเรื่องตั๋วเงินนี้ก็มักเป็นคนที่ทำมาหากินกับเรื่องเงิน ความน่าเชื่อถือและการมีเครือข่ายบริการที่มากพอจะทำให้เหล่าพ่อค้าแดนไกลมาซื้อตั๋วเงินเพื่อความปลอดภัยระหว่างเดินทาง แลกกับค่าธรรมเนียมให้แก่คนกลางที่จัดการเรื่องตั๋วเงิน ณ จุดนี้จะเห็นได้ชัดเลยว่าคนเริ่มนำเอากระดาษที่เป็นสิ่งที่ด้อยค่ามาสมมติให้มันมีค่า และสิ่งเดียวที่ทำให้มันมีค่าได้คือความน่าเชื่อถือ เชื่อว่าถึงยังไงก็สามารถนำมาเปลี่ยนกลับเป็นเงินหรือทองคำได้เสมอ

ธุรกิจตั๋วเงินเติบโตขึ้นตามการค้าที่ขยายตัวขึ้น จึงมีคนกลางมากมาย โดยเฉพาะการค้าตามเส้นทางสายไหมซึ่งพาดผ่านหลายภูมิภาคนับตั้งแต่ยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชียน้อย จนถึงจีน เหล่าคนกลางยิบย่อยมีทั้งที่ดีและสร้างปัญหา แต่ด้วยความเป็นธุรกิจที่มีกำไรเลยเป็นเหตุผลหนึ่งที่แต่ละอาณาจักรในเส้นทางสายไหมเริ่มคิดถึงการตั้งตัวเป็นคนคุมเสียเอง จักรพรรดิ์จีนสมัยราชวงศ์ถังนับเป็นเจ้าแรกที่ออกตั๋วเงินกระดาษใช้แทนเงินโลหะ กำหนดกติกาที่น่าเชื่อถือเพื่อให้ประชาชนใช้เงินกระดาษร่วมไปกับเงินก้อน อาณาจักรเองก็ได้ประโยชน์ทั้งในเรื่องของค่าธรรมเนียม และบางครั้งที่โลหะที่เป็นวัตถุดิบทำเงินก้อนขาดแคลนก็พิมพ์ตั๋วเงินกระดาษมาใช้แทนในระบบ แต่ทั้งหมดนี้อยู่บนความเชื่อถือว่ากระดาษใบนั้นต้องนำมาขึ้นเงินได้ จึงเห็นได้ว่าแม้กระดาษจะดูเริ่มมีค่าแต่ค่าของมันยังผูกไว้กับเงินหรือทองคำแท้ๆ

การใช้เงินกระดาษแพร่หลายไปทั่วเริ่มจากเอเชีย การพิมพ์กระดาษก็พัฒนาขึ้นไปให้ยากที่จะปลอมแปลง การออกเงินกระดาษก็จะต้องควบคุมให้อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดความแคลงใจของประชาชน นั่นแปลว่าต้องมีเงินเตรียมไว้ในปริมาณที่เท่ากันสำหรับจ่ายแลกคืน

ในยุคอดีตแม้ว่าการสื่อสารจะไม่รวดเร็วแบบในปัจจุบันแต่ความเจริญและวิวัฒนาการก็ไหลจากอาณาจักรที่เจริญไปสู่อาณาจักรผู้ตาม การใช้เงินกระดาษก็เช่นกัน วิวัฒนาการและกฎกติกาของเงินกระดาษจึงถูกกำหนดขึ้นโดยอาณาจักรที่เป็นผู้นำ อาณาจักรใดยิ่งใหญ่ก็จะให้เงินของตัวเองเป็นเงินสกุลหลัก ไล่มาตั้งแต่เงินสกุลสเปน ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 – 18 ต่อมาในยุคของอังกฤษในศตวรรณที่ 19 ที่อิทธิพลของอังกฤษแผ่ไปทั่วโลกซึ่งตรงกับในสมัยรัชกาลที่ 4 ของไทยที่ยังต้องยอมรับและเทียบค่าเงินบาทกับเงินปอนด์ของอังกฤษ จนถึงยุคหลังสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งอังกฤษแทบหมดตัวจากความบอบช้ำในสงคราม เป็นผลให้ประเทศเกิดใหม่อย่างอเมริกาที่เป็นเศรษฐีใหม่ร่ำรวยฟู่ฟ่าจากการเป็นพ่อค้าและเป็นผู้ผลิตสินค้ารายหลักในช่วงสงครามมีเงินมีทองมากที่สุดในโลกขณะนั้น ความเชื่อมั่นในค่าเงินปอนด์ก็ถดถอยลงตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 และสถานการณ์ยิ่งแย่ลงเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามจำนวนปริมาณทองหนุนหลังที่ลดลงไปกับการใช้จ่ายในสงคราม

ช่วงเวลาของการเปลี่ยนถ่ายความเป็นผู้นำสกุลเงินโลกไม่ได้เปลี่ยนเพียงชั่วข้ามคืน มันมีลำดับปรากฏการณ์ของการขาดความมั่นใจและสุดท้ายนำไปสู่การยอมรับโดยดุษฎี สงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดในปี 1918 แม้สถานภาพความมั่นคงทางการเงินของอังกฤษอ่อนแอลง แต่เงินปอนด์ยังเป็นเงินสกุลหลักของโลกอยู่ แม้จะเป็นผู้ชนะสงครามแต่ก็ไม่ได้อะไรมากจากผู้แพ้ที่ก็หมดตัวเหมือนกัน เหตุการณ์บีบคั้นให้ผู้แพ้จะปลดแอก สงครามครั้งใหม่จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้แม้จะไม่มีใครพร้อม และจบลงด้วยความบอบช้ำทั้ง 2 ฝ่าย มาตรการทางการเงินต่างๆ ของอังกฤษเองในช่วงหลังสงครามสะท้อนถึงความอ่อนแอภายในและส่งผลถึงความไม่มั่นใจในมูลค่าเงินปอนด์ของประเทศในเครือจักรภพที่ถือเงินปอนด์เป็นหลัก สถานการณ์เช่นนี้อาจนำไปสู่การแลกคืนเป็นทองคำจากประเทศอังกฤษซึ่งอาจนำหายนะมาสู่อังกฤษได้หากไม่มีทองสำรองเพียงพอ

การยอมรับโดยดุษฎีเกิดขึ้นในการประชุม Bretton wood ในรัฐนิวแฮมเชอร์ สหรัฐอเมริกา ในปี 1944 ประเทศต่างๆ มีมติร่วมกันให้ทั่วโลกเปลี่ยนมายึดเงินดอลล่าร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลักของโลก โดยมูลค่าของเงินดอลล่าร์กำหนดไว้ที่ 35 เหรียญสหรัฐต่อทอง 1 ออนซ์ เป็นอัตราคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง และที่ประชุมมีมติให้ตั้งกองทุน IMF เพื่อเป็นองค์กรที่ดูแลกติกาการเงินระหว่างประเทศและเป็นคนให้ความเห็นชอบอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์กับเงินสกุลอื่นทั่วโลก

ประวัติศาสตร์การเงินโลกยังมีที่น่าติดตามอีกมาก แต่ชั้นนี้ขอจบตรงนี้ไว้ก่อนเพราะสิ่งที่เรากำลังทำความเข้าใจกันก็คือ อะไรคือการที่คนให้คุณค่ากับสิ่งมีค่าอย่างเช่นสกุลเงินต่างๆ หรือทองคำ นั่นก็เพราะทุกคนมั่นใจในความมีค่าของสิ่งเหล่านั้น

คุณค่าของบิทคอยน์มีอยู่จริงหรือไม่ และเท่าไหร่

ในเมื่อขณะนี้มีคนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าบิทคอยน์มีค่าและทุ่มทรัพยากรเพื่อขุดค้นออกมา อย่างน้อยที่สุดก็มีต้นทุนในการขุดซึ่งก็น่าจะสามารถประมาณเป็นราคาต้นทุนต่อบิทคอยน์ได้ แต่การได้เป็นเจ้าของบิทคอยน์ซึ่งไม่ได้มีความเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ใดๆ เลยหรือจะเทียบกับสิ่งมีค่าที่เป็นทองคำหรือเป็นธนบัตรที่คนส่วนใหญ่เชื่ออย่างสนิทใจในคุณค่าของมัน และสาเหตุต่อไปนี้น่าจะเป็นตัวผลักดันให้มันกลายเป็นจุดสนใจของผู้คนในขณะนี้

  1. การพุ่งขึ้นของราคาที่น่าตื่นตะลึง
    ต้องยอมรับว่าในปี 2017 เพียงปีเดียว ราคาบิทคอยน์กระโดดขึ้นมาถึง 10 เท่า ดึงดูดทุกสายตาของนักลงทุนและนอกวงการนักลงทุน เพราะในยุคที่เศรษฐกิจโลกเซื่องซึมและรอการฟื้นตัวอยู่ในขณะนี้การพุ่งทะยานของราคาบิทคอยน์เป็นเหมือนกับเทศกาลพลุไฟเฉลิมฉลองในคืนฝนซา
  2. ความเหมือนทองคำในบางส่วน
    กล่าวคือบิทคอยน์ถูกสร้างมาให้หามาได้โดยยาก ต้องทุ่มเทพลังและเงินเพื่อให้ได้มา และก็เป็นของที่มีอยู่จำกัด เรียกได้ว่าเป็นสินค้าลิมิเตด ทำให้คนมีความรู้สึกอยากมีอยากได้ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วพอมีแล้วอาจจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมันเลย เหมือนกับที่คนที่เก็บทองก็เก็บไว้เฉยๆ ไม่ได้สร้างคุณค่าอะไรเพิ่มแต่อย่างใด
  3. มีความเชื่ออย่างแท้จริงว่ามีค่าและเป็นที่พึ่งในการรักษาความมั่งคั่งที่มีอยู่ (Safe heaven)
    ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าด้วยเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นของเงินบิทคอยน์ และความแปรปรวนและไม่น่าไว้ใจในสถานการณ์เศรษฐกิจของโลก ทำให้คนกลุ่มหนึ่งมองหาแหล่งยึดเหนี่ยวที่เชื่อได้ว่ามีค่าและปราศจากการบิดเบือนความจริงทางการเงินที่ถูกควบคุมโดยธนาคารกลาง
  4. ตามกระแส
    เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด หากไม่สามารถเปลี่ยนความสนใจจากความป๊อบปูล่าร์ของบิทคอยน์ในขณะนี้ไปสู่การเรียนรู้หรือทำความรู้จักให้มากขึ้น อาจตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพที่คอยหาประโยชน์จากความไม่รู้ที่มีอยู่มากมาย

บทสรุปในเรื่องคุณค่าของบิทคอยน์คือการรับรู้หรือรู้สึกถึงพลังความต้องการ(กิเลส)ที่เรามีต่อบิทคอยน์ บิทคอยน์อาจจะมีประโยชน์ใช้สอยได้จริง มีราคาที่คนอื่นๆ ยกป้ายราคาขอซื้อขอขาย ความวูบวาบของกราฟราคาจะหายไปเมื่อมองในช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้น ไม่มีใครบอกได้ว่าจริงๆ ราคาบิทคอยน์ควรอยู่ที่เท่าไหร่ เหมือนกับที่ไม่มีใครบอกเหตุผลได้ว่าทำไมราคาทองคำวันนี้จึงเป็นเท่านี้ ราคาแลกบาทต่อดอลล่าร์เป็นเท่านี้

ปัจจัยพื้นฐานที่มีผลต่อทิศทางราคาบิทคอยน์ก็ต่างจากสินทรัพย์ตัวอื่น การยอมรับบิทคอยน์ของประเทศหลักๆ ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation) ในบางประเทศ การเปิดตลาดซื้อขายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ส่งผลทางบวกต่อราคาบิทคอยน์ แต่หากเกิดกรณีผิดพลาดเสียหายของระบบ ความน่าเชื่อถือลดลง หรือแม้แต่การเกิดของเหรียญใหม่ๆ ที่มีคุณสมบัติที่ดีกว่า หรือเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง จะมีผลทางลบต่อราคาบิทคอยน์

หากจะจัดบิทคอยน์เข้าในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) อาจจะคาดคะเนช่วงราคาที่อาจจะเป็นได้ก็คือราคาขีดต่ำสุดไม่ควรจะต่ำกว่าราคาต้นทุนในการขุดของผู้ขุด (Miner) รายใหญ่ เช่นเดียวกับราคาน้ำมันในอดีตที่ตกต่ำแค่ไหนก็ไม่เคยต่ำกว่าราคาต้นทุนการผลิตโดยเฉลี่ยของโอเปก ราคาทองคำก็ไม่เคยลดต่ำกว่าต้นทุนเฉลี่ยของผู้ขุด ส่วนราคาสูงสุดของบิทคอยน์ที่จะเป็นไปได้คืออินฟินิตี้ซึ่งเป็นผลจากความโลภของมนุษย์ที่ไม่มีจุดสิ้นสุด จากข้อมูลที่ค้นได้ในกูเกิลพบว่าการขุดให้ได้ 1 บิทคอยน์ ต้องใช้เงินลงทุนค่าอุปกรณ์ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 5,000 – 6,500 เหรียญสหรัฐ และเป็นไปได้ว่าการขุดบิทคอยน์ในอนาคตจะต้องใช้ต้นทุนที่สูงขึ้นด้วยเหตุที่ระบบถูกตั้งให้ค่าความยากมีมากขึ้นอีกทั้งจำนวนบิทคอยน์ที่จ่ายตอบแทนให้แก่ผู้ขุดก็น้อยลงเรื่อยๆ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *