บิทคอยน์คืออะไร

บิทคอยน์ (Bitcoin) คืออะไร

บิทคอยน์คือเงินดิจิตอลชนิดแรกของโลกที่ไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดๆ เป็นผู้ควบคุม แตกต่างจากสกุลเงินของประเทศต่างๆ ที่่มีธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ เป็นผู้ควบคุมการพิมพ์เงินออกมาใช้

บิทคอยน์เป็นเงินดิจิตอลที่ผู้ใช้สามารถส่งเงินถึงกันได้ผ่านระบบอินเตอร์เนต เมื่อเทียบกับตัวกลางในการที่ใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนตัวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น เงินสด เช็ค บัตรเครดิต เพย์พาล(Paypal) หรืออะไรต่างๆ บิทคอยน์มีข้อได้เปรียบจากการที่ไม่มีองค์กรใดมาควบคุมคือ

บิทคอยน์ใช้ส่งถึงตัวผู้รับได้โดยตรงผ่านระบบอินเตอร์เนต ไม่ต้องผ่านตัวกลาง แตกต่างจากการใช้เช็ค หรือบัตรเครดิต หรือบัตรเงินสด หรือแม้แต่เพย์พาล (Paypal) ที่คำสั่งจ่ายเงินจากผู้ส่งเงินจะต้องวิ่งไปที่ธนาคารหรือบริษัทที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการควบคุมระบบเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของผู้ส่งและผู้รับ ต้องตรวจบัญชีผู้ส่งว่ามีเงินพอหรือมีเครดิตพอหรือไม่ หลังจากตรวจสอบครบถ้วนแล้วธนาคารหรือบริษัทตัวกลางก็จะส่งเงินไปถึงผู้รับ

นี่คือเหตุผลที่ทำให้ค่าบริการในธุรกรรมการส่งเงินของบิทคอยน์จึงต่ำกว่า และไม่ว่าผู้ส่งจะอยู่แห่งใดในโลกก็สามารถส่งเงินถึงผู้รับได้ตราบที่มีอินเตอร์เนตใช้  และบัญชีของผู้ใช้จะไม่มีวันถูกอายัดหรือถูกระงับการใช้เพราะไม่มีใครเป็นคนที่ควบคุม

บิทคอยน์ในโลกนี้ถูกสร้างขึ้นมาแค่เพียง 21 ล้านบิทคอยน์ ไม่มีการทำออกมามากกว่านี้ ใน 1 บิทคอยน์แบ่งย่อยได้เป็น 100 ล้านส่วน แต่ละส่วนเรียกว่า ซาโตชิ ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด นั่นแปลว่า 100 ล้าน ซาโตชิ = 1 บิทคอยน์

บิตคอยน์ใช้งานอย่างไร

อย่างแรกสำหรับผู้ที่จะใช้งานบิทคอยน์คือจะต้องไปซื้อบิทคอยน์จากบริษัทที่เป็นนายหน้าซื้อขายบิทคอยน์ที่ตอนนี้แทบจะมีอยู่ทั่วโลกหรือแม้แต่ในประเทศไทยในตอนนี้ที่มีอยู่หลายบริษัท ในที่นี้ขอเรียกบริษัทพวกนี้ว่าโบรกเกอร์ (Broker)

โบรกเกอร์จะช่วยสร้างกระเป๋าเงินบิทคอยน์ (Bitcoin wallet) ให้แก่เรา ซึ่งกระเป๋าเงินบิทคอยน์นี้ไม่มีรูปธรรมที่จับต้องได้ แต่จะเปิดได้จากในคอมพิวเตอร์ หรือแทบเลต หรือมือถือสมาร์ทโฟนที่ได้ติดตั้งโปรแกรมกระเป๋าเงินบิทคอยน์เรียบร้อยแล้ว โดยกระเป๋าเงินบิทคอยน์ของเราจะมีชื่อเฉพาะของมันไม่ซ้ำกับกระเป๋าของใครๆ เราเรียกชื่อนั้นว่าที่อยู่ของกระเป๋า  (wallet address) เอาไว้สำหรับบอกคนอื่นให้ส่งเงินมาให้ที่ที่อยู่กระเป๋าใบนี้ และเราจะมีรหัสลับที่จะสามารถเปิดเข้าดูได้ ดังนั้นเราจะต้องรักษารหัสนี้ไม่ให้คนอื่นรู้และขณะเดียวกันก็ต้องเป็นรหัสที่จดจำได้ไม่ลืม

การส่งเงินให้ผู้รับนั้นก็ง่ายดายพอๆ กับการส่งอีเมล์ และเราก็สามารถใช้บิทคอยน์ซื้อสินค้าต่างๆ ได้จากห้างร้านต่างๆ ที่รับเงินบิทคอยน์

การได้มาซึ่งบิทคอยน์มาใส่ในกระเป๋าเงินบิทคอยน์มี 3 วิธีคือ

  1. การขุด (Mining) ผู้จะทำการขุดต้องมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อันทรงพลังที่จะเข้าไปค้นหารหัสที่จะนำไปสู่การสร้างบล็อก (Block) ซึ่งเป็นภาชนะเปล่าที่จะนำไปใช้เก็บบันทึกธุรกรรมการจ่ายที่เป็นเครื่องมือสำคัญของระบบ การค้นหารหัสที่ว่าเป็นกระบวนการแก้โจทย์ทางคณิตศาสตร์ที่ต้องอาศัยอุปกรณ์อันทรงพลังมากๆ คอมบ้านๆ ไม่มีทางไปสู้อะไรกับพวกที่ขุดเป็นอาชีพได้ ผู้ที่ค้นหารหัสและสร้างบล็อกได้ก็จะได้รับสิ่งตอบแทนเป็นบิทคอยน์ นายซาโตชิ นากาโมโต (Satoshi Nakamoto) ผู้เป็นผู้สร้างบิทคอยน์ขึ้นมาเป็นผู้ขุดบล็อกแรกออกมาได้ ได้ไป 50 บิทคอยน์ และจากนั้นก็เริ่มมีคนอื่นๆ เข้ามาขุดตามการชักชวนของนายซาโตชิ ซึ่งยุคแรกๆ ค่าตอบแทนอยู่ที่ 50 บิทคอยน์ แต่ต่อมาเมื่อบิทคอยน์มีจำนวนมากขึ้นในระบบ ค่าตอบแทนก็ถูกกำหนดให้น้อยลงไปเรื่อยๆ ทั้งหมดที่เขียนมาอาจจะฟังแล้วไม่เข้าใจ แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องเข้าใจสำหรับผู้สนใจจะใช้บิทคอยน์ระดับคนทั่วไป เพราะปัจจุบันโอกาสที่จะใช้คอมบ้านๆ ไปขุดบิทคอยน์จะได้ผลตอบแทนที่น้อยมากๆ ถึงไม่ได้เลย ไปโฟกัสเรื่องการได้มาด้วยวิธีถัดๆ ไปจะเป็นไปได้มากกว่า
  2. การซื้อขาย (Trading) การซื้อขายบิทคอยน์ต้องทำผ่านบริษัทผู้แทนที่มักเรียกตัวเองว่า Exchange ซึ่งมีทั้ง Exchange ระดับโลกในต่างประเทศ และ Exchange ในไทย วิธีการและขั้นตอนการเข้าสู่การซื้อขายเป็นระบบเดียวกับที่ใช้ในการซื้อขายหุ้น ระดับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมซื้อขายน่าจะพอๆ กัน การซื้อขายบิทคอยน์ต่างจากการซื้อขายในตลาดหุ้นหรือตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ อย่าง ทอง หรือน้ำมัน ตรงที่ตลาดซื้อขายบิทคอยน์เปิด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด ไม่มี กลต. ไม่มีฟลอ-ซีลลิ่ง ไม่มีเซอร์กิตเบรกเกอร์ ราคาจะวิ่งขึ้นลงได้สุดๆ ตามทิศทางพลังความต้องการของตลาด
  3. เป็นผู้รับเงิน (User) อาจจะมาได้จากการเป็นผู้ขายสินค้าหรือบริการ หรือได้รับจากการให้ของผู้หนึ่งผู้ใด

ใช้บิทคอยน์ปลอดภัยแค่ไหน

อย่างที่ทราบตั้งแต่ต้นว่าบิทคอยน์ไม่มีคนกลางควบคุม ต่างจากบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต เพย์พาล หรือแม้แต่การใช้ธนบัตร ที่หากเราพบปัญหาในการใช้ เช่น โอนเงินไม่ได้ จ่ายเงินไม่ได้ บัตรเครดิตเรียกเก็บเงินโดยที่เราไม่ได้ใช้ บัญชีถูกตัดเงินแบบไม่มีที่มา หรือทำธนบัตรขาดชำรุดป่นปี้ หรืออีกจิปาถะ เราก็แค่ติดต่อธนาคารหรือบริษััทผู้ให้บริการให้เขาจัดการเคลียร์ปัญหาเหล่านั้น และเราก็เชื่อว่าเขาจะตรวจสอบและจัดการอย่างถูกต้องเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของระบบ

บิทคอยน์แตกต่างตรงที่ไม่มีใครหรือหน่วยงานใดเป็นผู้ควบคุม บิทคอยน์ใช้ระบบให้ทุกคนในระบบได้รู้เห็น ตรวจสอบและยอมรับร่วมกันในแต่ละธุรกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น และเมื่อธุรกรรมนั้นได้รับการยอมรับก็จะทำการจ่ายเงินให้ผู้รับตามคำสั่งจ่าย แล้วก็บันทึกธุรกรรมนั้นเป็นประวัติการจ่ายและส่งให้ทุกคนบันทึกเก็บไว้เพื่อการตรวจสอบในครั้งต่อๆ ไป

เปรียบง่ายๆ ก็คือให้คนในสังคมรู้เห็นไปพร้อมๆ กัน อย่างเช่นนาย ก จะจ่ายเงินให้นาย ข นาย ก ก็ตะโกนบอกทุกคนว่า “รู้กันไว้นะ ฉันจะจ่ายให้นาย ข 5 ซาโตชิ” คำบอกของนาย ก จะแผ่ไปไกลทั่วสุดจักรวาลอินเตอร์เนต คนที่ได้ยินก็จะรับทราบและต่างตรวจสอบว่านาย ก มีเงินพอจ่ายจริงหรือไม่ โดยการตรวจสอบจากประวัติการจ่ายเงินทั้งหมดในโลกที่เคยมีมาที่ตัวเองได้เก็บบันทึกไว้ ซึ่งข้อมูลประวัติที่เก็บไว้นั้นจะเห็นที่มาของเงินที่มาตกอยู่ในกระเป๋าเงินของนาย ก ถ้าตรวจแล้วว่ามีพอก็จะยอมรับให้จ่ายได้ประมาณว่า “เออ จ่ายไปเลย” แล้วก็บันทึกไปพร้อมกันว่าวันนี้เวลานี้นาย ก จ่ายให้นาย ข ไป 5 ซาโตชิ บันทึกนี้ก็จะถูกส่งไปเก็บไว้กับทุกคนในระบบ กระบวนการในการตรวจสอบจนถึงยอบรับให้การจ่ายเกิดขึ้นจริงใช้เวลาเป็น 10 นาที เพราะต้องมีการลำดับคำสั่งจ่ายเข้ากล่อง(Block)และตรวจความถูกต้องของการเรียงลำดับกล่องเป็นสาย (อธิบายไปก็งง) เอาเป็นว่าไม่เร็วแบบกดปุ๊บส่งปั๊บ

หลายคนอาจจะสงสัยว่าถ้ายังงั้นฉันก็ต้องมามีหน้าที่ในการตรวจสอบและยอมรับธุรกรรมมากมายขนาดนั้นหรือ คำตอบคือไม่ต้อง คนกลุ่มหลักที่ทำหน้าที่นั้นคือกลุ่มผู้เข้ามาขุด (Mining) ที่ระบบได้ยอมรับให้เป็นจุดเชื่อมโยงของเครือข่าย และกระบวนการตรวจสอบก็ใช้การพิสูจน์คำสั่งจ่ายของนาย ก ด้วยวิธีทางคณิตศาสตร์ ไม่ได้เอาคนมาตัดสิน ที่กล่าวมานี้จะน่าเชื่อได้มากแค่ไหนอย่าไปสนใจมากเพราะพูดไปสองไพเบี้ย ดูที่ผลลัพธ์ดีกว่าว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมาระบบการตรวจสอบไม่เคยผิดพลาด

แต่ถ้าอยู่ดีๆ นาย ก จะจ่ายเงินให้ นาย ข แต่ในกระเป๋านาย ก มีเงินไม่พอ ทุกจุดตรวจสอบในระบบจะไม่ยอมรับให้เกิดการจ่ายเงินที่เป็นไปไม่ได้ในครั้งนี้ สิ่งที่นาย ก ทำได้ก็คือต้องไปหาเงินบิทคอยน์มาเพิ่มให้พอกับการจ่าย หรือไม่ก็ต้องโกงด้วยวิธีการไปแก้ไขข้อมูลประวัติที่ทุกคนในระบบถืออยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากแบบหนัักหนาสาหัสหรือแทบจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ การจะทำเช่นนั้นได้คนทำจะต้องมีเครื่องคอมหรือเครือข่ายที่ทรงพลังมากกว่าผู้ใช้ที่เหลือในการเข้าเจาะระบบข้อมูลของทุกคน ซึ่งหากจะใช้ทรัพยากรมากขนาดนั้นไปโกงระบบ การปวารณาตัวเข้าไปเป็นผู้ขุดอาจจะได้ผลตอบแทนมากกว่า

แต่ถ้าเป็นในโลกการใช้เงินแบบเดิม นาย ก อาจจะไปใช้วิธีพิมพ์แบ๊งก์ปลอม หรือแฮ็คเจาะเข้าไปในระบบบัญชีของธนาคารที่มีเกราะป้องกันอันแข็งแกร่งเพื่อเข้าไปแก้ไขตัวเลขในบัญชี หรือไม่ก็ต้องไปสมคบกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารที่เป็นผู้ควบคุมระบบเพื่อลักลอบกันโกง ซึ่งการร่วมมือกันโกงกับคนที่มีใจจะร่วมทุจริตเป็นจุดที่เปราะบางที่สุดของระบบ

การโกงเหล่านี้ล้วนเป็นจุดอ่อนของระบบการเงินที่มีศูนย์ควบคุมกลางไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลาง ธนาคารพาณิชย์ ผู้ให้บริการบัตรเครดิต บัตรเงินสด เพย์พาล อะลีเพย์ เอ็มเพย์ ทรูมันนี่ ฯลฯ ซึ่งทำให้ระบบเหล่านั้นต้องสร้างเกราะป้องกันที่มั่นคง ต้องมีแบ็คอัพไซต์หลายๆ แห่ง มีการควบคุมการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่เข้มงวด หรือแม้แต่การรักษาจริยธรรมของผู้มีอำนาจในการควบคุมระบบ

ระบบที่ไม่มีศูนย์กลางควบคุมอย่างที่บิทคอยน์ใช้นั้นอาศัยการรับรู้และตรวจสอบร่วมกันของทุกสมาชิก กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับไปถึงต้นตอที่มาของเงินที่จะมาลงในกระเป๋าของใครต่อใครฟังดูแล้วอาจจะอ้าปากค้างว่า เฮ้ย จะทำได้ไง แต่ในยุคที่ข้อมูลวิ่งเข้าออกมหาศาลในแต่ละวินาทีบอกได้ว่าในยุคนี้เป็นสิ่งที่ทำได้สบายมาก

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *